Wednesday, 3 December 2008

พระจันทร์เสี้ยว



"พระจันทร์เสี้ยว" เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สนใจด้านวรรณกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ อาทิ สุชาติ สวัสดิศรี, นิคม รายวา, เธียรชัย ลาภานันท์, วีรประวัติ วงศ์พัวพันธุ์, วินัย อุกฤษณ์, วิทยากร เชียงกูล, ธัญญา ผลอนันต์ ซึ่งมีงานเขียนอยู่มากมายในขณะนั้น ต่อมาสมาชิกบางคนได้เริ่มหันมาสนใจงานละครเวที จึงเขียนบทละครขึ้น เช่น "ฉันเพียงอยากออกไปข้างนอก" ของ วิทยากร เชียงกูล "ชั้นที่ ๗" ของ สุชาติ สวัสดิศรี "นายอภัยมณี" ของ ธัญญา ผลอนันต์ "นกที่บินข้ามฟ้า" ของ วิทยากร เชียงกูล และคำรณ คุณะดิลก "ชมรมพระจันทร์เสี้ยว" ในขณะนั้นผลิตผลงานละครอย่างต่อเนื่องในรูปแบบและชื่อคณะที่หลากหลาย ได้แก่ "นี่แหละโลก" "แม่" และ "ก่อนอรุณจะรุ่ง" ซึ่งประสบความสำเร็จได้รับการวิจารณ์ในด้านบวกจากผู้ชมทั้งทางเนื้อหาและวิธีการแสดง

10 ปีต่อมา เมื่อ พ.ศ.2530 หลังจากที่ คำรณ คุณะดิลก ซึ่งไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศแล้วกลับมาประเทศไทย ได้สร้างสรรค์ละครเวทีสามัญชน เรื่อง "คือผู้อภิวัฒน์" เรื่องราวของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในนามของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ได้รับการวิจารณ์ว่าสามารถลบล้างคำปรามาสเกี่ยวกับการผลิตบทละครของคนไทยที่มักถูกวิจารณ์ว่าอ่อนด้อย ปลายปี พ.ศ. 2538 คำรณ คุณะดิลกนำหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งผู้สนใจสร้างสรรค์งานละครเวทีอย่างเป็นอาชีพในนาม "พระจันทร์เสี้ยวการละคร" ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมแสงอรุณ ผลักดันกระตุ้นความตื่นตัวให้กับวงการละครเวทีบ้านเราอีกครั้งหนึ่ง และมีผลงานสืบเนื่องติดต่อมา อาทิ "กูชื่อพญาพาน" "ความฝันกลางเดือนหนาว" "มาดามเหมา" "กระโจมไฟ" "ตลิ่งสูงซุงหนัก" "พระมะเหลเถไถ" "คำปราศรัยของนาย ก." ฯลฯ และมีผลงานที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศจากการกลับมาอีกครั้งของ "คือผู้อภิวัฒน์ 2475" กับนักการละครรุ่นใหม่ที่สืบสานงานสร้างสรรค์ต่อมาจนปัจจุบัน

Labels: ,

พระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนวิญญาณประชาธิปไตย

รำลึก ๓๐ ปี เหตุการณ์ ๖ ตุลา
พระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนวิญญาณประชาธิปไตย
รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
นักวิชาการอิสระ
----------------

ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่มละคอนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม และศิลปะการละครอันมีเนื้อหาในการส่งเสริมพัฒนาความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยไทย ทั้งยังสะท้อนภาพสังคมโดยใช้สื่อการแสดงเป็นเครื่องมือสำคัญ จนถือได้ว่าเป็นต้นแบบของละครเพื่อชีวิต
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1010เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๙
----------------------------------

ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่มละคอนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม และศิลปะการละครอันมีเนื้อหาในการส่งเสริมพัฒนาความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยไทย ทั้งยังสะท้อนภาพสังคมโดยใช้สื่อการแสดงเป็นเครื่องมือสำคัญ จนถือได้ว่าเป็นต้นแบบของ 'ละครเพื่อชีวิต'

ในวาระครบรอบ ๓๐ ปีของพระจันทร์เสี้ยวการละคอน และเป็นการแสดงมุทิตาจิตต่อคำรณ คุณะดิลก หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญที่มีอายุครบ ๖๐ ปี ในปี ๒๕๔๙ กลุ่มผู้ก่อตั้งรวมทั้งสมาชิกตั้งแต่รุ่นปี ๒๕๑๘ จนถึงปัจจุบันจึงได้จัดงาน "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนวิญญาณประชาธิปไตย" เพื่อร่วมกันรื้อฟื้นความทรงจำในอดีตของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคอนขึ้น ในวันเสาร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ณ หอศิลป์ตาดู กรุงเทพฯ

ภายในงานมีการเสวนาของสมาชิกชมรมพระจันทร์เสี้ยว, การแสดงตัดตอนมาจากฉากสำคัญของละครสร้างสรรค์เพื่อสังคม และประชาธิปไตยจำนวน ๑๑ เรื่องคือ อวสานของเซลล์แมน, ชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓, แม่, นี่แหละโลก, ก่อนอรุณจะรุ่ง, แซมมี่จอมยุ่ง, ความฝันกลางเดือนหนาว, คือผู้อภิวัฒน์และกูชื่อพญาพาน นอกจากนี้ยังมีปาฐกถาพิเศษเปิดงานโดย ศ.ดร. เจตนา นาควัชระ(เรียบเรียงจากการเสวนาเรื่อง "ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละคอน กับละครสะท้อนภาพชีวิตและสังคม" ผู้ร่วมเสวนา: คำรณ คุณะดิลก, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ธัญญา ผลอนันต์ และวิทยากร เชียงกูล ดำเนินการเสวนาโดย: ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์)ประวัติ : ทางสายพระจันทร์เสี้ยว (1) "พระจันทร์เสี้ยว" เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยที่สนใจด้านวรรณกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ อาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วีรประวัติ วงศ์พัวพันธุ์, วิทยากร เชียงกูล, ธัญญา ผลอนันต์, นิคม รายวา, วินัย อุกฤษณ์, เธียรชัย ลาภานันท์ เป็นต้น

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รื้อความทรงจำถึงการก่อตัวและที่มาของคำว่าพระจันทร์เสี้ยวไว้ดังนี้
"การก่อเกิดพระจันทร์เสี้ยว มันก็ไม่มีระบบระเบียบอะไรที่เป็นทางการ แต่จุดเริ่มต้นสำคัญที่อาจจะเป็นการก่อเกิดอันแรก คือเราร่วมกันทำหนังสือ เราเรียกว่าเป็นหนังสือเล่มละบาท ซึ่งถือเป็นจุดก่อเกิดที่ทำให้พวกเรามารวมตัวกัน ในสมัยนั้นการทำหนังสือจะต้องไปขออนุญาตกับทางสันติบาล การเกิดหนังสือเล่มละบาทขึ้นมาก็ด้วยเหตุเพราะมันทำหนังสือในระบบไม่ได้ หนังสือของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวเท่าที่ผมจำชื่อได้ คือธุลี, ตะวัน, ปัญญา, นาคร, ลานโพธิ์ และยังมีอีกหลายเล่ม ส่วนคำว่า พระจันทร์เสี้ยวนั้นต้องให้เครดิตคุณวีระประวัติ วงศ์พัวพัน คือเขามีกลุ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า crescent moon แล้วเขาก็เอาคำ ๆ นี้มาแปลเป็นไทย ว่าพระจันทร์เสี้ยว"

บริบทแห่งยุคสมัย จากยุคสายลม-แสงแดด (2) ราวปี ๒๕๐๕ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องส่วนรวม จนมาถึงในปี ๒๕๑๐ จุดเริ่มของยุคแสวงหา (3) ซึ่งเกิดการพูดคุย, วิพากษ์, ถกเถียง แล้วจึงนำไปสู่การรวมกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น. วิทยากร เชียงกูล เล่าถึงบรรยากาศของกิจกรรมนักศึกษาในยุคสมัยนั้นว่า

"ในยุคนั้นถือว่าเราเป็นนักศึกษากลุ่มน้อย เพราะว่าศิลป-วัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ก็มีแต่เพลงเชียร์ฟุตบอลประเพณี (4) เป็นอย่างมาก และก็งิ้วธรรมศาสตร์ (5) เราเป็นพวกที่สนใจหนังสือ ที่สำคัญก็คือว่าการสนใจหนังสือทำให้คุยกันได้นาน คือเราอยากแสดงออกแต่เรายังหาวิธีของมันไม่ค่อยได้ เพราะว่าสมัยนั้นหนังสือในตลาดก็มีน้อย จะมีก็แต่สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์แล้วก็ชาวกรุง...เราจึงพิมพ์หนังสือกันขึ้นมาเอง"

เมื่อวิทยากรได้รับเลือกเป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบกับกรรมการชมรมฯ ในปีนั้นเป็นกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวเสียส่วนใหญ่ พวกเขาจึงได้ร่วมกันปรับรูปเปลี่ยนร่างให้กับหนังสือของชมรมวรรณศิลป์ ด้วยการเพิ่มเติมเนื้อหาของเรื่องสั้น, บทวิจารณ์หนังสือ, ปรัชญา ภายใต้แนวคิดที่ว่าวรรณกรรมต้องสะท้อนทั้งภาพของสังคมและชีวิต

สุชาติกล่าวเสริมเติมต่อ"หลังจากปี ๒๕๑๒ กิจกรรมที่ทำเริ่มมีความสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น…ในเวลานั้นยังมีกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวยของสุจิตต์-ขรรค์ชัย, กลุ่มดำแดงปริทัศน์ของวิรุณ ตั้งเจริญ, กลุ่มวลัญชทัศน์ที่เชียงใหม่ พวกสถาพร ศรีสัจจัง, นิติ อภิรักษ์โสภณ, อารมณ์ พงศ์พงัน ที่โคราช, ธัญญาอยู่สภากาแฟที่ ม.เกษตร และมันก็เป็นผลสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันที่ก้าวพ้นจากองค์กรนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

กลุ่มอิสระเหล่านี้มีจุดร่วมกันของความรู้สึกโหยหาที่จะกลับไปหาสิ่งที่ตัดต่อความทรงจำในยุคเก่าให้ต่อกับสิ่งที่เป็นรากเหง้าเดิมของบรรดานักคิด, นักเขียนที่ถูกตัดตอนออกไปในช่วงสมัยจอมพล ป., จอมพลสฤษดิ์ กลุ่มต่าง ๆ นั้นได้มีจุดร่วมกันอีกอย่าง คือเป็นขบถทางความคิด เป็นจิตวิญญาณขบถ...สิ่งที่เห็นได้ชัด คือขบถทางการศึกษา ส่วนที่วิพากษ์คือไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ... แล้วสังคมก็ยังอยู่ในภาวะกึ่งเผด็จการ การดิ้นรนเพื่อจะทำกิจกรรมจึงเกิดขึ้นและเป็นกระแสต่อเนื่องมาจนกระทั่งเกิด 14 ตุลา"

ฉากของชีวิต ในเวลาต่อมาสมาชิกของชมรมพระจันทร์เสี้ยวบางคนได้เริ่มหันมาสนใจเขียนบทละคร อาทิ "ฉันเพียงอยากออกไปข้างนอก", "นายอภัยมณี ", "งานเลี้ยง" ของวิทยากร เชียงกูล, "ชั้นที่ ๗" ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี, "นกที่บินข้ามฟ้า" ของวิทยากร เชียงกูล และคำรณ คุณะดิลก เป็นต้น จากการเขียนเพื่ออ่านได้เชื่อมโยงไปสู่การทำละครเวที

"นายอภัยมณี" เป็นละครเวทียุคแรกจากบทละครที่เขียนขึ้น เพื่อล้อเลียนเรื่องพระอภัยมณีของวิทยากร เชียงกูล ได้จัดแสดงขึ้น ณ สยามสมาคมโดยมีคำรณ คุณะดิลกรับบทนายอภัยมณี รวมถึงวิทยากร เชียงกูล, เกริกเกียรติ นิติพัฒน์ และธัญญา ผลอนันต์ ที่ขณะนั้นเป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมแสดงด้วย

ปี ๒๕๑๔ กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสำคัญยิ่งในกระบวนการผลิตละครเรื่องอวสานเซลล์แมน ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรับผิดชอบด้านฉาก แสง เสียง รวมทั้งแสดงนำเป็นตัวละครเอก "อวสานเซลล์แมน" เป็นบทละครดัดแปลงจากงานเขียนของนักเขียนอเมริกันชื่อดัง (6) มีเนื้อหาเสียดสีสังคมของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม และต่อเนื่องด้วย "ชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓" ที่ฉายภาพความล่มสลายของวัฒนธรรมชุมชนพร้อมทั้งนำความแปลกใหม่มาสู่วงการละครไทยด้วยการสร้างสรรค์ผลงานละครในรูปแบบ POOR THEATRE (7) แล้วนำทฤษฎีการละครของ JERZY GROTOWSKI (8) มาปรับใช้เพื่อสอดผสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงและผู้ชมให้เข้าถึงจิตวิญญาณของละคร กลวิธีนี้นำมาจากต้นแบบของ BRECHTIAN THEATRE (9) ซึ่งเป็นแนวละครแถวหน้าของละครร่วมสมัยในศตวรรษ ๒๐.
คำรณ คุณะดิลก ได้กล่าวถึงละครเรื่องนี้ว่า
"ก่อนที่ผมจะออกไปสอนทางด้านการละครที่เชียงใหม่ แกรี่ (อาจารย์ชาวต่างชาติผู้สอนวิชาการละคร ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ให้หนังสือของ JERZY GROTOWSKY แก่ผมเล่มหนึ่ง ซึ่งพูดถึงทฤษฎีของการละครของ Stanislavsky (10) ในระดับของจิตวิญญาณความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับคนดู คือไม่มีฉาก ไม่มีแสง ไม่มีเมคอัพ และสอดคล้องกับเราพอดีที่ไปอยู่เชียงใหม่ แล้วได้เห็นความล่มสลายของสังคมชนบท สังคมเกษตรกรรมในยุคก่อนตุลาฯ จึงได้นำมาสร้างเป็นละครเรื่องชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓"

จนกระทั่งปี ๒๕๑๘ ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละครได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมเปิดฉากด้วยละครเรื่อง "แม่" ของแมกซิม กอร์กี้ (11) กับเรื่องราวต่อต้านความอยุติธรรมในสังคมแต่เชื่อมั่นในสัจธรรมเหนือสิ่งอื่นใด และละครเรื่อง "นี่แหละโลก" ที่ขับเน้นภาพความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของคนในสังคมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ภายหลังเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละครได้ก่อตั้งคณะละครชื่อ "แฉกดาว" โดยนำละครไปจัดแสดงตามโรงงาน, ชุมชน, ม็อบและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ถือเป็นจรยุทธ์ในการรุกคืบเข้าสู่มวลชน อาทิ ละครเรื่อง "ก่อนอรุณจะรุ่ง" ด้วยการนำบทละครเรื่องชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓ มาดัดแปลงใหม่, ละครเรื่อง "แซมมี่จอมยุ่ง" ที่พูดถึงการรุกรานแทรกซึมของอเมริกา ในยุคที่บทเพลงอเมริกันอันตรายกระหึ่มก้อง

หากระหว่างนั้นเองมีสมาชิกของชมรมฯ ได้ถูกจับกุมคุมขังและหลบหนีภัยทางการเมืองจนแตกกระสานซ่านเซ็นอย่างไร้ทิศทาง บางคนถึงกับต้องหลีกลี้ไปยังต่างประเทศ จากเหตุการณ์ดังกล่าวฉากแห่งชีวิตของชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละครจึงค่อย ๆ หรี่แสงรูดม่านปิดลง แต่ม่านชีวิตของคำรณ คุณะดิลกยังคงเปิดฉากต่อไปในประเทศฝรั่งเศส โดยคำรณได้เข้าร่วมกับคณะละคร THEATRE DE LA MANDRAGORE เป็นทั้งนักแสดงและผู้ช่วยผู้กำกับ มีผลงานเรื่อง Antigone, Woyzeck, Leon&Lena, La Mort de Danton, L' Avar, La Mort de Bucher, Escalade, La Libbration, L' Eneme and Terminal ออกแสดงตามประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, อียิปต์, จอร์แดน, เลบานอน, สวีเดน, โมรอคโค, ตูนิเซีย, กอบอน, การ์คาร์ และซูดาน (12)

เมื่อพระจันทร์ 'คืน' เสี้ยว๑๐ ปีต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ คำรณ คุณะดิลก ได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วสร้างสรรค์ละครเวทีสามัญชน เรื่อง "คือผู้อภิวัฒน์" อันเป็นเรื่องราวของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในนามของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว พร้อมทั้งลบคำสบประมาทที่วิจารณ์ว่าละครเวทีไทยยังอ่อนด้อยและขาดไร้ประสบการณ์ลงได้อย่างสิ้นเชิง

ปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คำรณ คุณะดิลก ได้ชักนำหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่สนใจสร้างงานละครเวทีอย่างเป็นอาชีพในนาม "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมแสงอรุณ เข้ามาช่วยผลักดันกระตุ้นจนเกิดความตื่นตัวให้กับวงการละครเวทีไทยอีกครั้ง และมีผลงานละครเวทีออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กูชื่อพญาพาน, ความฝันกลางเดือนหนาว, ผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ, มาดามเหมา, กระโจมไฟ, ตลิ่งสูงซุงหนัก, พระมะเหลเถไถ, คำปราศรัยของนาย ก. ฯลฯ (13) จวบจนปัจจุบันผลงานละครเวทีของ "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" ซึ่งทอดส่งมายังนักการละครรุ่นใหม่นั้นเป็นที่ยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ

ณ วันนี้เสี้ยวแสงแห่งรัตติกาลยังคงทอฉายด้วยศรัทธาที่มุ่งมั่น แม้จะไม่เรืองรองจนส่องทาง หาก "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" กลับพอใจในแสงเรื่อเรืองของตน และพร้อมจะสร้างสรรค์ฉากของชีวิตที่สะท้อนภาพสังคมให้ผู้ชมได้ขบคิดสืบต่อไป เฉกเช่นบทกวีที่คำรณ คุณะดิลกได้กล่าวไว้"เราเป็นนก ประดับดงไม้รับฟัง บทเพลงที่เราร้องแต่อย่ากู่ขานชื่อเราเลย..."
++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) นำชื่อมาจากนวนิยายเรื่อง"ทางสายพระจันทร์เสี้ยว" ของ ประภัสสร เสวิกุล
(2) ยุคนี้เป็นยุดสมัยหรือช่วงเวลาที่นักศึกษามีความภาคภูมิใจในสถานภาพของตนเอง กล่าวคือ เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคม และมีความสุขสำราญในการใช้ชีวิตทุกด้าน นักวิชาการบางท่านเรียกว่ายุค "สายลมแสงแดด" นักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคนี้แทบไม่มีใครทราบอดีตเลยว่า ใครเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยมีความเป็นมาอย่างไร ใช้เวลาไปกับการแข่งขันกีฬา, พาเหรด แบ่งสี สถาบัน จำกัดกิจกรรมในแวดวงกีฬา และบันเทิง ไม่สนใจสังคมและการเมือง ไม่ใส่ใจทุกข์สุขของประชาชน, http://www.2519.net/
(3) เป็นยุคที่ประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความตื่นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ มีการสร้างกลุ่ม ชมรม องค์กรนักศึกษา ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในวงกว้าง ทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งมีผลสะท้อนกลับ คือ ทำให้นักศึกษากลายเป็นพลัง และกลุ่มกดดันทางสังคม เป็นยุคที่รู้จักกันดีในชื่อ "ยุคฉันจึงมาหาความหมาย" จากอิทธิพลทางความคิดและบทกวีอมตะจากหนังสือเพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ของวิทยากร เชียงกูล, http://www.2519.net/
(4) ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๗๗ ณ ทุ่งพระสุเมรุ สนามหลวง โดยแนวความคิดของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ได้หารือกันว่าควรจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่าง นิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันและควรจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์มี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค, บุศย์ สิมะเสถียร และฝ่ายจุฬาฯ มี ประสงค์ ชัยพรรค, ประถม ชาญสันต์ และประยุทธ สวัสดิ์สิงห์ จนได้ถือเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในการแข่งขันทุกปีนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่ารายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมีการมอบการกุศลทุกครั้ง, "กำเนิดฟุตบอลประเพณี", http://campus.sanook.com/u_life/cu-tu62.php
(5) งิ้วธรรมศาสตร์ หรืองิ้วการเมือง เปรียบได้ว่าเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมที่มีชีวิต ก่อตั้งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะการแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนาน โดยสะท้อนภาพการเมืองไทยผ่านการแสดงละครที่สนุกสนานและเสียดสีได้อย่างแสบร้อน ทั้งดึงดูดความสนใจด้วยการนำผู้ที่เป็นที่รู้จักในวงสังคมมาเป็นตัวแสดง หรือการแสดงในแบบจรยุทธ์ โดยเล่นตามม็อบหรือความเคลื่อนไหวบนสถานการณ์การเมืองที่สำคัญ นับตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคม, พฤษภาทมิฬ และล่าสุดคือเหตุการณ์การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, อรการ กาคำ, "มหรสพสยบมาร", กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙.
(6) "ละครกับประชาธิปไตย: ๓๐ พระจันทร์เสี้ยว", กรุงเทพธุรกิจ, ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙.
(7) ชาวโปล คนหนึ่งที่ชื่อว่า Jerzy Growtowski เป็นผู้เรียกละครแนวนี้ว่า Poor Theatre เขามีความคิดว่า ละครของพวกคนรวย ที่ใช้ฉาก แสงเสียง เสื้อผ้า หรือองค์ประกอบอื่น ๆ นั้น ไม่มีประโยชน์ และPoor Theatre ก็คือละครที่ไม่ใช้อะไรสักอย่างนอกจากที่จำเป็นเท่านั้น , "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", แดสเอนเตอร์เทนเมนท์ www.dass.com
(8) Jerzy Growtowski ชาวโปล เขาเป็นผู้นิยามละครแนว Poor theatre และเป็นผู้ตั้งคณะละคร The Polish Theatre Laboratory ขึ้นในปี ๑๙๕๙ เพื่อหาแนวทางในการแสดงรูปแบบใหม่ ที่นักแสดงไม่ต้องจำกัดตัวเองอยู่กับสิ่งต่างๆภายนอกเลย แต่จะใส่ใจอยู่ที่การแสดงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นเอง ละครของเขาจึงไม่ใช้การแต่งหน้า เสื้อผ้า หรือฉากที่สมจริงในการแสดง ให้ความสนใจแต่ร่างกายและจิตใจของนักแสดงเท่านั้น, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).
(9) แนวละครร่วมสมัยในศตวรรษที่ ๒๐ ที่เน้นหนักไปยังความสามารถของนักแสดงและความสัมพันธ์กับผู้ชม, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).
(10) ตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙ นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญา เริ่มสนใจและศึกษาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ว่า มีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของมนุษย์ Therese Raquin นวนิยายที่เขียนขึ้นโดย Emile Zola เป็นนวนิยายในแนว Naturalism หรือธรรมชาตินิยม ที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะและงานละครในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง นักการละครยุคนั้นจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเลียนแบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รอบตัวมนุษย์ ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฉากที่ให้รายละเอียดที่สมจริง หรือการที่นักแสดงจะพยายามแสดงให้เหมือนจริงมากที่สุด โดยพยายามที่จะศึกษาลึกลงไปในภูมิหลังและความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละครต่าง ๆ Stanislavsky นักการละครที่โด่งดัง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาธรรมชาตินิยมนี้, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).
(11) แมกซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky หรือ Gorki) มีความหมายว่า "แมกซิมผู้ระทมขมขื่น" เป็นนามปากกาของอเลกเซ แมกซิโมวิช เพสคอฟ (Alexi Maximovich Peshkov) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย ซึ่งได้สร้างสรรค์วรรณกรรมสะท้อนให้เห็นถึงความยากแค้นลำเค็ญของสังคมขึ้นมาอย่างมากมาย ผลงานของเขาถือได้ว่า "ปลุกเร้าวิญญาณของมวลมนุษย์" โดยเฉพาะนวนิยายเรื่องแม่ โดยฉากของนิยายในเรื่องทั้งหมดเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง รวมถึงเหตุการณ์และการจำลองชีวิตของบุคคลที่ไม่ได้รับความยุติธรรรมในสังคมมาใส่ไว้ในเรื่อง การดำเนินชีวิตของ ปาเวล วลาสซอฟ นั้นลอกเลียนมาจากชีวิตจริงของ ปาเวล ซาโลมอฟ ซึ่งเป็นผู้เดินนำกรรมกรในวันเมย์เดย์และถูกตี ถูกจับ ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลานาน ส่วนแม่ของปาเวล นิลอฟน่า เป็นภาพรวมจากชีวิตแม่ของซาโลมอและแม่ของ Kadomtsev กรรมกรนักปฏิวัติ
เหตุการณ์ในการเคลื่อนไหวปฏิวัตินั้นสตรีชาวรัสเซียที่เป็นแม่และเป็นกรรมกรมากมาย มีส่วนช่วยลูกและต้องเข้าคุกไปด้วย หลังจากหลบลี้ภัยการเมืองไปในหลายประเทศ และที่อเมริกานี้เองกอร์กี้ได้เขียนนวนิยายเรื่อง "แม่" ขึ้นมา หากเมื่อนำไปตีพิมพ์ที่รัสเซียเป็นครั้งแรกนั้นเรื่องแม่ตอนแรกที่ออกมาถูกยึดทำลายหมด และตอนที่สองก็ถูกเซ็นเซอร์จากคณะกรรมการเสียจนอ่านไม่ได้เรื่อง แต่ขณะเดียวกันก็มีหนังสือเรื่อง "แม่" ที่พิมพ์โดยผิดกฎหมายออกมามีเนื้อหาครบถ้วน และไม่นานเรื่อง "แม่" ก็ถูกแปลไปหลายภาษาทั่วโลก รัฐบาลพระเจ้าซาร์โกรธมากที่มีหนังสือเรื่อง "แม่" ตีพิมพ์ออกมา สั่งจับกอร์กี้ในฐานะผู้เขียน กอร์กี้หนีรอดพ้นเงื้อมมือของตำรวจไปได้โดยไปอยู่ที่เกาะคาปรี
เมื่อกอร์กี้กลับมารัสเซียนั้น เขากลับมาอย่างผู้มีชัย สถานที่บ้านเกิดของเขาซึ่งเป็นฉากท้องเรื่องของนวนิยายเรื่อง "แม่" ได้รับการขนานนามใหม่ว่า "กอร์กี้" เพื่อเป็นเกียรติใน ค.ศ. ๑๙๓๒, เรียบเรียงจาก จิตร ภูมิศักดิ์ (ผู้แปล), แม่, แปลจาก MOTHER โดย Maxim Gorky, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ดอกหญ้า : กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓, ๑๑-๑๓ (เบื้องหลังความเป็นมาเรื่อง "แม่" โดยภิรมย์ ภูมิศักดิ์)
(12) "ละครกับประชาธิปไตย: ๓๐ พระจันทร์เสี้ยว", กรุงเทพธุรกิจ.
(13) http://www.bkkonline.com/movie/drama/moon/

++++++++++++++++++++++++++++

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
๑. เอกสารประกอบงานพระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนประชาธิปไตยไทย
๓. "กำเนิดฟุตบอลประเพณี", http://campus.sanook.com/u_life/cu-tu62.php (บทความ)
๔. อรการ กาคำ. "มหรสพสยบมาร". กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙. (บทความ)
๕. "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐". แดสเอนเตอร์เทนเมนท์ (บทความ)
๖. "ละครกับประชาธิปไตย": ๓๐ ปีพระจันทร์เสี้ยว. กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙. (บทความ)
๗. จิตร ภูมิศักดิ์ (ผู้แปล). แม่. จาก MOTHER โดย Maxim Gorky. พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๔๓๘. http://www.bkkonline.com/movie/drama/moon/

จาก : http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999920.html

Labels: , ,

เรียวจันทร์ ผลอนันต์ "ถ้าต้องตายในวันนี้ ก็จะไม่มีคำว่า เสียดาย"




เรียวจันทร์ ผลอนันต์ ถ้าต้องตายในวันนี้ ก็จะไม่มีคำว่า เสียดาย


จากประสบการณ์นักเรียนไทยในต่างแดน เรียวจันทร์ ผลอนันต์ (T-two) ลูกสาวฝาแฝดคนที่ 2 ของคุณพ่อธัญญา ผลอนันต์ นักเขียนในยุคแสวงหาเจ้าของผลงานหนังสือ “ถนนไปสู่ก้อนเมฆ” ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ “ณ ที่ซึ่งรุ้งตัดแวง” วรรณกรรมเยาวชนที่คว้ารางวัลมาจากหลายเวที การเขียนหนังสือไม่ใช่สิ่งเดียวที่เรียวจันทร์สนใจ แต่ทุกเรื่องที่เรียวจันทร์ อยากที่จะทำเป็นทุกเรื่องที่เธอสนใจ และต้องทำให้ได้อย่างดีที่สุดเพื่อที่จะไม่ต้องมานั่งเสียดายภายหลัง



ฝาแฝดผู้น้อง “เรียวจันทร์ ผลอนันต์”จริงๆ แล้วเกิดมามีฝาแฝดหนึ่งคน ชื่อว่า คมเคียว ผลอนันต์ (T-one) T หมายถึง twin ค่ะ เราสองคนไปเกิดที่ประเทศอังกฤษ คุณพ่อกับคุณแม่เจอกันที่ยุโรป ช่วงนั้นคุณพ่อคือ คุณธัญญา ผลอนันต์ ซึ่งทำงานในแวดวงนักเขียน เป็นนักข่าวและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จึงจำเป็นต้องลี้ภัยจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อปี 2516 เราเลยไปคลอดที่ประเทศอังกฤษ แต่อยู่ได้แค่ 8 เดือนก็กลับมาประเทศไทย วันกับทู จึงมาโตที่ประเทศไทย ช่วงหลังมานี้คุณพ่อก็ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ มาเป็นผู้ฝึกอบรมเรื่อง Mind Map ส่วนคุณแม่ คือ คุณธาราทิพย์ นิยมค้า ตอนนี้คุณแม่เปิดร้านอาหาร ชื่อร้าน Mango Rain อยู่แถวสุขุมวิทค่ะ




งานเขียนหนังสือ “ณ ที่ซึ่งรุ้งตัดแวง” ที่สร้างชื่อเพิ่งได้รับรางวัลเยาวชนนักเขียนตัวอย่าง โครงการการสร้างวัฒนธรรม การคิด อ่าน เขียน เรียนรู้ จากผลงานวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “ณ ที่ซึ่งรุ้งตัดแวง” ค่ะ ซึ่งเมื่อ 4 ปีก่อน ก็เคยได้รับรางวัลชมเชย การประกวดหนังสือดีเด่น 7 Book Awards มาแล้วจากผลงานเล่มเดียวกัน เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนกึ่งสารคดี บอกเล่าชีวิตในช่วง ม.6 ตอนได้รับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน ที่ประเทศกัวเตมาลา ในขณะที่คนอื่นๆ เขาอยากไปประเทศที่มันศิวิไลซ์ แต่เรากลับคิดว่าเราอยากไปประเทศที่มีวัฒนธรรมที่มันแตกต่างออกไป อยากเรียนรู้วัฒนธรรมที่แปลกใหม่




ตอนยังเด็กเคยฝันไว้ว่าอยากที่จะมีหนังสือของตัวเอง แต่ในตอนนั้นยังไม่มีวัตถุดิบที่จะนำมาเขียนมากพอ แต่พอได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนทุน AFS ก็เริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และพอดีกับว่ายังไม่มีวรรณกรรมที่เกี่ยวกับลาตินอเมริกาเลย จึงเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา เริ่มเขียนตอนเรียนปีหนึ่ง แล้วก็เขียนรูปประกอบเองด้วย โชคดีที่คุณพ่อสนับสนุนเลยได้ท่านเข้ามาช่วยในเรื่องของการจัดพิมพ์ แล้วก็ได้รับมาถึงสองรางวัล ก็รู้สึกภูมิใจมาก แม้จะเป็นเล่มแรก แต่เขาก็เห็นคุณค่าของงานเรา แต่จากรางวัลที่ได้มาเราก็ย้อนกลับมาดูตัวเองนะ ว่าเราเหมาะกับสิ่งที่เขาให้แล้วจริงๆ หรือ เพราะนี่ก็เป็นเล่มแรกของเราด้วย มันยังต้องมีอะไรที่ต้องปรับปรุงอีกเยอะ ยังต้องสะสมประสบการณ์ให้มากขึ้น และใช้ชีวิตในถนนสายนักเขียนให้นานขึ้น คือเราต้องพัฒนาตัวเองให้ควรค่าแก่รางวัล



ต้นแบบของการเป็นนักเขียนก็คงเป็นคุณพ่อ ที่มีบทบาท ตอนเด็กๆ ก็จะได้คลุกคลีอยู่กับพ่อซึ่งทำงานเกี่ยวกับหนังสือ พาเราไปงานสัปดาห์หนังสือ เราก็ชอบหยิบๆ จับๆ หนังสือมาอ่าน คุณพ่อก็สนับสนุนในเรื่องของการอ่านด้วย ทั้งการ์ตูนก็ให้อ่าน แต่ตอนเด็กๆ เคยลองอ่านหนังสือของคุณพ่อด้วย แต่อ่านไม่เข้าใจ พอโตมาก็พอเริ่มอ่านได้เข้าใจมากขึ้น จากความที่เป็นคนรักการอ่านบวกกับมีนักเขียนต้นแบบอย่างคุณพ่อ จึงทำให้คิดอยากที่จะเขียนหนังสือ อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ตอนที่เริ่มเขียนก็ปรึกษาคุณพ่อ คุณพ่อก็ให้คำแนะนำ พอเขียนเสร็จก็ให้คุณพ่อลองอ่าน คุณพ่อก็ไม่ได้แก้หรือปรับเปลี่ยนอะไรที่เราทำเลย คุณพ่อให้อิสระกับงานเขียนของเรามาก




ทราบมาว่า เรียวจันทร์ เป็นนักล่ารางวัลตัวยงเราก็แค่ทำในสิ่งที่อยากทำ ถึงแม้ว่าอาจจะผิดหวังไม่ได้รางวัลบ้าง แต่เหมือนกับว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ให้เต็มความสามารถของเรา รางวัลเป็นแค่ตัวกระตุ้นให้เราทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่เราได้ทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ เมื่อเราได้ชื่นชมกับผลงานของเรา นี่แหละคือรางวัลที่ดีที่สุด ที่บ้านจะรู้ดีว่าเวลาเรากำลังสร้างสรรค์ผลงานอะไรสักอย่าง เราจะชอบอุบเงียบ อย่างถักเสื้อนี่เราจะง่วนอยู่คนเดียวแล้วจะแอบไม่ให้ใครรู้ ปล่อยให้ทุกคนทายว่าทำอะไร พอทำเสร็จเราค่อยเอาออกมาโชว์ แล้วก็จะแขวนโชว์ไว้เป็นวันๆ แบบว่ามันปลื้มว่าฉันทำได้แล้ว


-------------------------------------------


อ่านต่อใน ulife ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 หน้าปก c-qui


Labels: , , ,

เส้นทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2492-ปัจจุบัน

เส้นทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2492-ปัจจุบัน

ผลิบาน
วรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วงปี 2492-2495
จุดเริ่มของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” น่าจะมาจากแนวคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อชีวิต” ซึ่งนำเสนอโดย อัศนี พลจันทร (อินทรายุทธ, นายผี) และอุดม สีสุวรรณ (พ.เมืองชมพู, บรรจง บรรเจิดศิลป์) ทั้งสองเสนอแนวคิดเรื่องนี้ในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำในขณะนั้น “อินทรายุทธ” เสนอความคิดในอักษรสาส์นรายเดือน ในปิตุภูมิและมหาชน เขาวิจารณ์วรรณคดีไทยโบราณหลายเรื่อง โดยยึดหลักการว่ากวีต้องอยู่เคียงข้างประชาชน และวรรณคดีต้องนำเสนอความเป็นจริงแห่งชีวิต และสังคม ส่วน พ.เมืองชมพู ยืนยันโดยหนักแน่นว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ไม่มี และก็ไม่อาจมี มีแต่ “ศิลปะเพื่อชีวิต” เพราะศิลปะกำเนิดจากชีวิตและเกี่ยวพันกับชีวิต

“ชมรมนักประพันธ์” ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2493 โดยการริเริ่มของมาลัย ชูพินิจ (แม่อนงค์) ชมรมนี้จัดประชุมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อยครั้ง ด้วยหัวข้อที่เกี่ยวกับการประพันธ์ ครั้งหนึ่งมีการเสนอคำว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” เข้าสู่วงอภิปราย นักเขียนเพื่อชีวิตในยุคแรกหลายคนได้แสดงจุดยืนและอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์วรรณกรรม เช่น อิศรา อมันตกุล ประกาศว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ให้ยาพิษแก่ประชาชน” ศรีบูรพา ตั้งคำถามว่า “จะใช้ศิลปะเพื่อให้เป็นคุณกับคนส่วนมากหรือเป็นคุณกับคนส่วนน้อย” และกล่าวว่า “ทำอย่างไรจึงจะทำให้ศิลปะนั้นเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์อย่างไพศาลที่สุดที่จะเป็นได้” การอภิปรายของ “ชมรมนักประพันธ์” น่าจะจุดประกายความคิดสร้างจิตสำนึกแก่นักประพันธ์รุ่นใหม่ในยุคนั้นไม่น้อย

ในช่วงนี้มีวรรณกรรมเพื่อชีวิตเกิดขึ้นมากมาย ประเภทนวนิยาย, เรื่องสั้น, กวีนิพนธ์ ที่เด่นๆ มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เขียน นักบุญจากชานตัน ขอแรงหน่อยเถอะ เรื่องสั้น จนกว่า เราจะพบกันอีก นวนิยาย, อุดม อุดาการ (อ.อุดาการ) เขียน บนผืนแผ่นดินไทย เรื่องสั้น, อัศนี พลจันทร (นายผี) เขียน อีศาน กวีนิพนธ์, อิศรา อมันตกุล เขียน เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี กวีนิพนธ์, เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน ความรักของวัลยา นวนิยาย, ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ เขียน แผ่นดินนี้ของใคร นวนิยาย, ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา (อุชเชนี) เขียน บทกวีใน “ขอบฟ้าขลิบทอง” และ “ดาวผ่องนภาดิน” กวีนิพนธ์

นอกจากนี้ยังมีกวีนิพนธ์ของเปลื้อง วรรณศรี และทวีป วรดิลก (ทวีปวร)

หนังสือสารคดีมี เดชา รัตนโยธิน เขียน วิวัฒนาการทางสังคม อุดม สีสุวรรณ (อรัญญ์ พรหมชมภู) เขียน ไทยกึ่งเมืองขึ้น, อุดม สีสุวรรณ (บรรจง บรรเจิดศิลป์) เขียน ชีวิตกับความใฝ่ฝัน, สุภา สิริมานนท์ เขียน แคปิตะลิสม์

นอกจากนี้ยังมี “รวมปาฐกถาภาคฤดูร้อน พ.ศ.2495” ซึ่งมีบทความเด่นๆ เช่น “ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ “การประพันธ์และสังคม” ของเสนีย์ เสาวพงศ์

ช่วงนี้คือช่วงผลิบานของวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคแรก

กบฏสันติภาพ
เกิดรัฐประหารเงียบในปลายปี 2494 มีการคุกคามเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์จึงรวมตัวกันตั้ง “คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์” เพื่อต่อต้านการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมกับเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ ต่อต้านสงครามเกาหลี วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 รัฐบาลกวาดล้างจับกุมนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่ร่วมชุมนุมกัน ข้อหากบฏภายในราชอาณาจักร พร้อมกันนั้น มีการกวาดล้างกลุ่มการเมืองอื่นๆ เช่น ขบวนการกู้ชาติ ขบวนการสันติภาพ การกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่นี้ มีผู้ถูกจับกุมนับร้อยคน ทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา ประชาชน รัฐบาลใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2495 มีผลให้รัฐบาลโยงข้อหาผู้ถูกจับกุมเข้ากับพระราชบัญญัติฉบับนี้ ด้วยการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ซึ่งเรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” หรือ “กบฏ 10 พฤศจิกา” ผู้ที่ถูกจับกุมได้แก่ ศรีบูรพา อารี ลีวีระ (ต่อมาถูกตำรวจของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยิงทิ้งอย่างเหี้ยมโหด) สุภา สิริมานนท์ อุทธรณ์ พลกุล เปลื้อง วรรณศรี นเรศ นโรปกรณ์ สุพจน์ ด่านตระกูล เป็นต้น ต่อมาผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ได้รับ นิรโทษกรรม ในปี พ.ศ.2500 เนื่องในโอกาสฉลองปีกึ่งพุทธกาล

สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตจึงชะงักงันไปโดยปริยายชั่วขณะหนึ่ง

ไม่ยอมสยบ
วรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วง พ.ศ.2495-2501
แม้จะถูกกวาดล้างกรณี “กบฏสันติภาพ” นักเขียนยังผลิตวรรณกรรมเพื่อชีวิตออกมาอย่างต่อเนื่อง
“ศรีบูรพา” สร้างงานจากคุกบางขวาง “แม่” ของ แม็กซิม กอร์กี้ เรื่องแปล “แลไปข้างหน้า” นวนิยาย “อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ” กลอนเปล่า

เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน “ปีศาจ” “ล่องใต้” (นวนิยายการปฏิวัติในละตินอเมริกา) นวนิยาย

ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ เขียน “เมืองทาส” “โศกนาฏกรรมของสัตว์เมือง” นวนิยาย

สด กูรมะโรหิต เขียน “ระย้า” “เลือดสีแดง” “ เลือดสีน้ำเงิน” นวนิยาย

อิศรา อมันตกุล เขียน “ธรณีประลัย” นวนิยาย

สุวัฒน์ วรดิลก เขียน “หลั่งเลือดลงโลมดิน” (แรงบันดาลใจจากบทกวี “อีศาน” ของนายผี) นวนิยาย “เทพเจ้า” เรื่องสั้น

เดชะ บัญชาชัย เขียน “ประวัติจริงของอาคิว” เรื่องแปล

รุ่งแสง เขียน “ลุ่มแม่น้ำวอลก้า” “รวมเรื่องสั้น แม็กซิม กอร์กี้” เรื่องแปล

สุภา สิริมานนท์ เขียน “คอรัปชั่นในวงการหนังสือพิมพ์” บทความ

นวชน เขียน “หลู่ซิน” เรื่องแปล

คำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม) เขียน “ฟ้าบ่กั้น” รวมเรื่องสั้น

อัศนี พลจันทร (นายผี), (อินทรายุธ) เขียน “เราชนะแล้ว แม่จ๋า” “โคลงกลอนของ นายผี” “ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน” กวีนิพนธ์

อุชเชนี และนิด นรารักษ์ เขียน “ขอบฟ้าขลิบทอง” รวมบทกวีนิพนธ์

ปี พ.ศ.2498 จิตร ภูมิศักดิ์ (ทีปกร) ได้เขียนบทความขนาดยาวอันลือลั่น 4 ตอน อะไรหนอที่เรียกว่าศิลปะ, ศิลปะบริสุทธิ์มีจริงแท้หรือไฉน, ที่ว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” นั้นคืออย่างไรกันแน่หนอ และ “ศิลปะเพื่อชีวิต” ความหมายแท้จริงของมันเป็นไฉน ในปี พ.ศ.2500 จิตร ยังมีบทความ “ศิลปะเพื่อประชาชน” ออกมาอีก บทความทั้งห้าตีพิมพ์เป็นเล่มเดียวกันชื่อ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ในปี พ.ศ.2515

การไม่ยอมสยบกับเผด็จการแสดงถึงอหังการของนักเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคแรก

ยุคมืดทางปัญญา ปี 2501-2507
เดือนตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหาร ใช้อำนาจเผด็จการโดยเบ็ดเสร็จ กวาดล้างจับกุมนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์เข้าคุกเป็นจำนวนมาก ปิดหนังสือพิมพ์ ประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม เช่น “แม่” แปลโดย ศรีบูรพา “นิติศาสตร์ 2500” ที่ตีพิมพ์งานอย่าง “โฉมหน้าศักดินาไทย” ของสมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์) “การวิเคราะห์ลักษณะทางชนชั้นในประเทศไทย” ของ พัฒนา รัมยะสุต “โฉมหน้าจักรพรรดินิยม” ของ มณี ศูทรวรรณ

การจับกุมคุมขังนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์กลายเป็นแรงผลักดันให้นักเขียนหลายคนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย “ศรีบูรพา” ลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีนจนเสียชีวิตที่นั่น เสนีย์ เสาวพงศ์ หยุดเขียนชั่วคราว มุ่งรับราชการทางการทูตอย่างเดียว “ลาว คำหอม” ไปทำไร่ที่ปากช่อง นักเขียนหลายคนเปลี่ยนแนวเขียนไปเป็นเรื่องเริงรมย์

จิตร ภูมิศักดิ์ คนเดียวที่ยังยืดหยัดเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างต่อเนื่องจริงจัง แม้จะถูกขังอยู่ในคุกลาดยาว จิตรยังสร้างผลงานที่มีคุณค่า เช่น “พจนานุกรมไทย-มูเซอ” “ความเป็นมาของคำ สยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” งานแปลมี “แม่” ของ แม็กซิม กอร์กี้ “ธรณีกรรแสง” ของนักเขียนอินเดีย บทละครเรื่อง “มนต์รักจากเสียงกระดึง” และบทเพลงอีกจำนวนหนึ่งเช่น “แสงดาวแห่งศรัทธา” “มาร์ชชาวนาไทย” “รำวงวันเมย์เดย์” “ศักดิ์ศรีของแรงงาน” เป็นต้น

ปี 2507 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ถูกคุมขัง จิตร แต่งกวีนิพนธ์ในนาม “กวี ศรีสยาม” และ “กวีการเมือง” ลอบส่งออกมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เช่น “จิ้งเหลนกรุง” “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา” “วิญญาณหนังสือพิมพ์-เปิบข้าว” บทกวีเหล่านี้มักจะยาว แต่งโดยใช้ฉันทลักษณ์โบราณ แต่เนื้อหากล่าวถึงทุกข์ยากของประชาชนและการกดขี่ของชนชั้นปกครอง

ยุคนี้วรรณกรรมเพื่อชีวิตแทบสูญหายโดยสิ้นเชิง ด้วยอำนาจเผด็จการ

ฟื้นตัว
วรรณกรรมเพื่อชีวิตก่อน 14 ตุลา (พ.ศ.2508-2516)
หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจรสืบทอดอำนาจเผด็จการจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความตึงเครียดทางการเมืองเริ่มผ่อนคลาย แม้จะตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นเวลายาวนาน ประเทศชาติกลับตกต่ำลงในทุกทาง นักวิชาการรุ่นใหม่, นักศึกษาจึงหันมาตรวจสอบสภาพทางสังคมรอบตัวอย่างจริงจัง ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบถึงสังคมและชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

การที่แกนนำนักเขียนเพื่อชีวิตลี้ภัยไปยังต่างแดนหรือเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ความคึกคักตกอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ชุมนุมวรรณศิลป์และกลุ่มวรรณศิลป์อิสระ เช่น ชมรมพระจันทร์เสี้ยว, กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย, กลุ่มเทคนิคโคราช, กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิตตามมหาวิทยาลัยต่างๆ กลายเป็นกลุ่มสำคัญในการผลักดันวรรณกรรมเพื่อชีวิต มีการจัดนิทรรศการ, อภิปราย, พิมพ์บทประพันธ์, นำบทประพันธ์เพื่อชีวิตในยุคก่อนมาพิมพ์ซ้ำ การเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มฟื้นตัว

มีนิตยสารเกิดใหม่ช่วงนี้ ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตมีเวที สามารถงอกงามขึ้น ได้แก่ สังคมศาสตร์ปริทัศน์, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา, ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน, ประชาธิปไตย และมหาราษฎร์ ที่สำคัญคือ กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต ได้ออกหนังสือ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ตีพิมพ์ผลงานทั้งเก่าและใหม่ กลุ่มนี้ออกหนังสือได้หกฉบับ คณะผู้จัดทำหลายคนถูกจับข้อหา “กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” (ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา) หนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิตจึงปิดฉากไป

ในยุคนี้มีการนำวรรณกรรมเพื่อชีวิตเด่นๆ ในยุคแรกมาตีพิมพ์ซ้ำ เช่น “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของ “ทีปกร” (จิตร ภูมิศักดิ์) “เมืองนิมิตร” ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ ความรักของวัลยา, ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ “เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี” ของ อิศรา อมันตกุล “เราชะนะแล้ว แม่จ๋า” ของ อัศนี พลจันทร

การได้สัมผัสกับงานเขียนที่ดีของนักเขียนก้าวหน้าในอดีต ทำให้รู้สึกว่าตนกำลังต่อสู้กับสิ่งเดียวกันกับที่คนรุ่นก่อนเคยต่อสู้มาแล้วอย่างดุเดือด จึงเป็นการปลุกเร้าจิตสำนึกทางสังคมการเมืองของคนยุคนี้ให้เข้มข้นขึ้น

วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มฟื้นตัวมารับใช้สังคม

ตื่นเถิดเสรีชน
การเติบโตของวรรณกรรมเพื่อชีวิตก่อน 14 ตุลา ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคแรก ทั้งรูปแบบ เนื้อหา แนวคิด และวิธีการนำเสนอ อาจมีบางคนทดลองใช้กลวิธีใหม่ในการนำเสนอ แต่ทุกคนมีจุดยืนว่าการสร้างสรรค์วรรณกรรมต้องเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์สังคม

เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่าง วรรณกรรมเพื่อชีวิตที่สร้างสรรค์โดยนักศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ ที่เด่นๆ มี “ตั๋วเดินทาง” ของประเสริฐ สว่างเกษม “ความเงียบ” ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี “ละคอนโรงเก่า” ของนัน บางนรา “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของวิทยากร เชียงกูล “คนบนต้นไม้” ของนิคม รายวา “ถนนไปสู่ก้อนเมฆ” ของธัญญา ผลอนันต์ “เบิ่งฟ้าแนมดิน” ของศรีศักดิ์ นพรัตน์ “เราจะฝ่าข้ามไป” ของ วิสา คัญทัพ “สงครามในหลุมศพ” ของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ “ดอกไม้ที่หายไป” ของสาคร “ใต้สำนึก” ของ วิรุณ ตั้งเจริญ “ภาพชิ้นสำคัญ” ของ วรฤทธิ์ ฤทธาคนี “เนื้อในกระดูก” ของ แน่งน้อย พงษ์สามารถ “หนุ่มหน่ายคัมภีร์” “โง่เง่าเต่าตุ่น เมดอินยูเอสเอ” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

เรื่องสั้นใช้รูปแบบนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น “ตัวทาส” ของอนุช อาภาภิรม “กรุงเทพฯ 1982” ของ อดุล เปรมบุญ “วันหนึ่งของกรุงเทพฯ” ของศิริชัย นฤมิตรเรขการ “จุลินทรีย์พลาสติก” และ “การเคลื่อนที่ของเหล็กหมายเลขหนึ่ง” ของสุวัฒน์ ศรีเชื้อ

นอกจากนี้มีบทละคร เช่น ชั้นที่ 7 ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ฉันเพียงแต่อยากออกไปข้างนอก, งานเลี้ยง, นายอภัยมณี ของ วิทยากร เชียงกูล นกที่บินข้ามฟ้า ของคำรณ คุณะดิลก

ด้านกวีนิพนธ์ กวีรุ่นใหม่ประสานบทบาทกวีนิพนธ์เข้ากับการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะบทกวีของยุทธพงษ์ ภูริสัมบรรณ (รวี โดมพระจันทร์), วิสา คัญทัพ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บทกวี “ตื่นเถิดเสรีชน” ของรวี โดมพระจันทร์

ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา ฯลฯ

บทกวีนี้กลายเป็นบทกวีแห่งการสู้รบของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และถูกขับขานทุกครั้งในการชุมนุมทางการเมือง

อีกคนหนึ่งคือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อดีตนักกลอนกลุ่มสายลม-แสงแดด เริ่มหันมาเขียนบทกวีสะท้อนสังคมอย่างจริงจังเริ่มจาก “เพลงขลุ่ยกลับมาหากอไผ่” “เพลงเปลญวน” “ทางเดินแห่งหอยทาก”

ทางด้านนักประพันธ์อาชีพ มีนิยายหลายเล่มกล่าวถึงสังคมและการเมือง ที่เด่นๆ มี “เขาชื่อกานต์” ของสุวรรณี สุคนธา และ “ความรักสีเพลิง” ของ สีฟ้า (ม.ล.ศรีฟ้า มหาวรรณ) ที่กล่าวถึงทัศนะของนักศึกษาต่ออำนาจเผด็จการขณะนั้น

วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มทำหน้าที่ปลุกเร้าผู้คนให้ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการ

หนังสือเล่มละบาท
นอกจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรรวมศูนย์ของนักศึกษาแล้ว ยังมีกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมากมายหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสภาหน้าโดม, กลุ่มเศรษฐธรรม, กลุ่มผู้หญิง (ธรรมศาสตร์), กลุ่มสภากาแฟ (เกษตร), กลุ่มรัฐศึกษาและกลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ (จุฬาฯ), กลุ่มวลัญชทัศน์ (เชียงใหม่), ชมรมคนรุ่นใหม่ (รามคำแหง), กลุ่มศิลปและวรรณลักขณ์ (ประสานมิตร), กลุ่มศิลป (เทคนิคโคราช) ในระดับนักเรียนนอกจากศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย มีกลุ่มยุวชนสยาม กลุ่มกิจกรรมเหล่านี้มักจะจัดทำหนังสือหารายได้ โดยขายหน้าประตูมหาวิทยาลัยในราคาเล่มละ 1 บาท หนังสือประเภทนี้จึงเรียกขานกันว่า “หนังสือเล่มละบาท” หนังสือรายสะดวกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น “ภัยขาว” “คัมภีร์” “ปลด” “วลัญชทัศน์” “กด” ฯลฯ มักนำเรื่องสั้นและบทกวีเพื่อชีวิตยุคแรกมาพิมพ์ เช่น บทกวีของนายผี, เปลื้อง วรรณศรี, จิตร ภูมิศักดิ์ และเสนอบทความแนวคิดมาร์กซิสต์ เช่น มาร์กซิสต์ : แนวคิดสำหรับซ้ายใหม่ และคำประกาศของความรู้สึกใหม่ ใน “วลัญชทัศน์” ฉบับมนุษย์และปัญหา ใน “คัมภีร์” เริ่มพูดถึงการปฏิวัติของประชาชน ส่วน “ภัยขาว” โจมตีอเมริกาในสงครามเวียดนาม หนังสือ “เล็บ” ของกลุ่มผู้หญิงที่เรียกร้องให้ปลดปล่อยผู้หญิงเสียทีและ “ภัยเขียว” ที่เขียนทิ่มแทงผู้นำเผด็จการทหารบางคน

หนังสือเล่มละบาท “มหาวิทยาลัย : ที่ยังไม่มีคำตอบ” ของชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในหน้าที่ 6 มีข้อความว่า
สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ

ข้อความนี้เสียดสีการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ผลคือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีคำสั่งลบชื่อนักศึกษารามคำแหงในชมรมคนรุ่นใหม่ เป็นผลให้นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516 และขยายผล เป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ การประท้วงครั้งนั้นนักศึกษาได้รับชัยชนะ บทกวี “ตื่นเถิดเสรีชน” ถูกย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมทั้งเพลง “สู้เข้าไปอย่าได้ถอย” ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล การประท้วงครั้งนั้นจบลงด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 6 เดือน ใครจะนึกว่าการประท้วงครั้งนั้นจะเป็นการซ้อมใหญ่ของนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา นี่คือผลสะเทือนจากหนังสือเล่มละบาท!

14 ตุลาคม 2516 อำนาจเผด็จการพังทลาย ส่วนหนึ่งย่อมมาจากอำนาจของวรรณกรรม

แตกดอกออกช่อ
วรรณกรรมเพื่อชีวิตระหว่าง 14 ตุลา 16-6 ตุลา 19
แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นเพียง 3 ปี แต่เป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างมากมาย ด้วยปัจจัยบรรยากาศแวดล้อมทางสังคมการเมือง และด้วยจิตสำนึกขบถของนักเขียนหนุ่มสาว เนื้อหาของวรรณกรรมยุคนี้ เน้นการต่อสู้ของนักศึกษา ชาวนา กรรมกรกับอำนาจรัฐและความทุกข์ยากในชีวิต มักปลุกเร้าให้ต่อสู้ด้วยความรุนแรง ผลงานส่วนใหญ่จะเป็นบทกวีและเรื่องสั้น นวนิยายมีบ้างไม่มาก

เรื่องสั้นในยุคนี้ที่เด่นๆ มี “ก่อนไปสู่ภูเขา” ของ สถาพร ศรีสัจจัง
“ความในใจของกระดูกในฟาร์มจระเข้” “งูกินนา” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร
“แก้วหยดเดียว” “พ่อ” และ “ชายผ้าเหลือง” ของ ศรีดาวเรือง
“แค้นของคำพา” ของ วิสา คัญทัพ
“คดีฆาตกรรมบนก้อนเมฆ” ของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ
“บันทึกของคนแซ่ปึง” ของ กรณ์ ไกรลาศ

นวนิยายส่วนใหญ่เป็นงานเขียนของนักเขียนรุ่นอาวุโส ที่เด่นๆ มี
“พิราบแดง” “พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” “แผ่นดินเดียวกัน” ของ สุวัฒน์ วรดิลก (สันติ ชูธรรม, รพีพร)
“ไผ่ตัน” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
“ตำบลช่อมะกอก” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร
“กระทรวงคลังกลางนา” ของ นิมิต ภูมิถาวร
“แสงเสรี” ของ สุชีพ ณ สงขลา

วรรณกรรมยุคนี้จึงเสมือนเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ทางความคิด และเป็นเครื่องมือเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง ช่วงเวลาดังกล่าวมีหนังสือเกี่ยวกับการเมืองตีพิมพ์กว่า 300 เล่ม

นักเขียน คือ “นักรบ” วรรณกรรม คือ “อาวุธ”

กวีประชาชน
กลุ่มนักเขียนที่เป็นผลผลิตที่น่าภาคภูมิใจของเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ กวี ช่วงนี้ถือเป็นยุคทองของบทกวีเพื่อชีวิต กวีแนวเพื่อชีวิตสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมาย เช่น
“บทกวีเพื่อชีวิต” “ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย” และ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ของ รวี โดมพระจันทร์
“ด่านสาวคอย” “เราจะฝ่าข้ามไป” ของ วิสา คัญทัพ
“ซับแดง” ของ ประเสริฐ จันดำ
“น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว” ของ วิสา คัญทัพ และประเสริฐ จันดำ
“จารึกบนหนังเสือ” ของ ประเสริฐ จันดำ และ สุรชัย จันทิมาธร
“คำเตือนของผองเพื่อน” ของ สถาพร ศรีสัจจัง
“ขออย่าให้เราสลายพลังเพราะจะพังทลาย” “เขียนให้อาชีวะ” ของ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
“อหังการของดอกไม้” ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา

กวีเด่นที่มีผลงานลุ่มลึกหนักแน่นในแนวคิดเชิงสังคม และแพรวพราวด้วยภาษาและกลวิธีทางวรรณศิลป์ คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผลงาน “อาทิตย์ถึงจันทร์” เป็นโคลง 500 บท พรรณนาเหตุการณ์ต่อสู้ของนักเรียนนิสิตนักศึกษาจากวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลา 16 ถึง วันจันทร์ที่ 15 ตุลา 16 อีกเล่ม คือ “เพียงความเคลื่อนไหว” รวมบทกวีที่ตีพิมพ์บทที่เด่นคือ “หนทางแห่งหอยทาก” “เพียงความเคลื่อนไหว” รวมบทกวีเล่มนี้ได้รับรางวัลซีไรต์ปี 2523 และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี 2536 คู่กับ “อุชเชนี” (ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา) กวีหญิงแนวเพื่อชีวิตในทศวรรษ 2490

นักเขียนอาวุโสแนวเพื่อชีวิตอีกคนที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คือ “ลาว คำหอม” คำสิงห์ ศรีนอก

ช่วงเวลาเบ่งบานของวรรณกรรมเพื่อชีวิตแสนสั้น วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดอกไม้แห่งปัญญาดอกนี้ถูกทำลาย

หนังสือต้องห้าม
หลังการทำลายชีวิตนักศึกษาอย่างเหี้ยมโหดในวันที่ 6 ตุลา 19 รัฐบาลเผด็จการสมัยนั้นยังติดตามทำลายหนังสืออีกมากมาย มีการประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม 204 รายชื่อ มีผลให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตนับล้านเล่มถูกเผา ถูกฝัง ถูกทำลาย กลายเป็นหนังสือหายากในปัจจุบัน ช่วงเวลานี้เป็นช่วง “ตายสนิท” ของวรรณกรรมเพื่อชีวิต นักเขียนเพื่อชีวิตส่วนใหญ่หนีตายขึ้นภูร่วมต่อสู้รัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ หลายคนยุติบทบาทหรือเปลี่ยนแนวการเขียน

รายชื่อหนังสือต้องห้าม (ปัจจุบันยังไม่มีการยกเลิก)

ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง

ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียนแสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน คือ
1. การเมืองเรื่องของประชาชน เขียนโดย แนวร่วมประชาชาติกันทรารมย์
2. เก้าอี้ป่า เขียนโดย เก้าอี้ป่า
3. การ์ตูนปฏิวัติจากจีนใหม่ หญิงแดง จดหมาย ขนไก่ กองทหาร เขียนโดย หวาซาน หลิวจี้อิ่ว
4. การปฏิวัติของจีน เขียนโดย กองบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
5. การศึกษาปฏิวัติประชาชนลาว เขียนโดย ไกรสร พรหมวิหาร
6. ก่อนไปสู่ภูเขา แปลโดย สถาพร ศรีสัจจัง
7. กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ประไพ วิเศษธานี
8. เข้าโรงเรียน เขียนโดย กวั่นหวา
9. ข้อขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียต กับ จีน เขียนโดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เหยินหมิน ยึเป้า และกองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
10. คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ต่างประเทศ ปักกิ่ง และสุนทรการพิมพ์ หจก.จรัลสนิทวงศ์ บางพลัด กรุงเทพมหานคร
11. คัมภีร์นักปฏิวัติ เขียนโดย กลุ่มอิสานปฏิวัติ
12. คาร์ลมาร์กซ์ ผู้สร้างทฤษฎีนิรันดร เขียนโดย วิตาลี ไวกอดสกี
13. ความชัดเจนทางประวัติศาสตร์ของเผด็จการ ชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สุวิทย์การพิมพ์ ซอยอรรถสิทธ์ สาธรใต้ กรุงเทพฯ
14. เคียงข้างกันสร้างสรรค์โลก เขียนโดย แสงเสรี
15. ความคิดของเหมาเจ๋อตุง เขียนโดย สุรัฐ โรจนวรรณ
16. โจวเอินไหล ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่วัชรินทร์การพิมพ์ 364 ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ
17. จะวิเคราะห์ชนชั้นในชนบทอย่างไร เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรับใช้ชาติ
18. จากโฮจิมินห์ ถึง เปลื้อง วรรณศรี เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
19. จรยุทธ-ใต้ดิน เขียนโดย ตะวันฉาย
20. จีนคอมมิวนิสต์ เขียนโดย สนอง วิริยะผล
21. จิตใจปฏิวัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
22. จีนแผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล เขียนโดย Jan Myrdal & Gun Kessle
23. ลัทธิสังคมนิยมแบบเพ้อฝันและแบบวิทยาศาสตร์ แปลโดย อุทิศและโยธิน
24. ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ เขียนโดย ตะวันฉาย
25. ลัทธิเลนิน กับลัทธิแก้สมัยใหม่ เขียนโดย ชมรม 13
26. ลัทธิเลนินจงเจริญ เขียนโดย กองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
27. ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ว่าด้วยทฤษฎีสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ แปลโดย ศูทร ศรีประชา
28. ว่าด้วยรากฐานทางสังคมกลุ่มหลินเปียวที่ค้านพรรค เขียนโดย เหยาเหวินหยวน
29. วิจารณ์คำแถลงของพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกา กระจกส่องพวกลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ธเนศ วรการพิมพ์ 489 ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพฯ
30. วิพากษ์ลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ สมชายการพิมพ์ 270/77 ซอยวิมลสรกิจ บางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร
31. วิวัฒนาการความคิดสังคมนิยม เขียนโดย ชาญ กรัสนัยปุระ
32. ว่าด้วยรัฐบาลรวม เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
33. วิเคราะห์การต่อสู้ของพรรคลาวด๋อง เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
34. วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์ เขียนโดย น.ชญานุตม์
35. วัฒนธรรมจีนใหม่ เขียนโดย ไจ๋เปียน
36. วี.ไอ.เลนิน-รัฐ เขียนโดย ชมรมหนังสือแสงดาว
37. วีรบุรุษสู้รบ เขียนโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสานแห่งประเทศไทย
38. ว่าด้วยประชาธิปไตยรวมศูนย์ แปลโดย เศรษฐวัฒน์ ผดุงรัฐ
39. ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เขียนโดย โจเซพ สตาลิน ประกาย สุชีวิน แปล
40. ภาวะของศิลปะใต้ระบอบเผด็จการฟาสซีสม์ เขียนโดย จิตติน ธรรมชาติ
41. หลักลัทธิเลนิน เขียนโดย บำรุง ไพรัชวาที
42. หนทางการปฏิวัติไทย ไม่ปรากฏผู้แต่ง และไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์
43. 50 ปี พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา 50 ปี สหพันธ์สตรีคิวบา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ ประจักษ์การพิมพ์ กรุงเทพฯ
44. เดินทางทัพทางไกลไปกับประธานเหมา เขียนโดย เฉินชางเฟิ่ง
45. เดินทางไกลครั้งที่ 2 เขียนโดย เหยิน จางหลิน
46. หยางกึนซือวีรชนอมตะ เขียนโดย ว่างเฮา
47. เหมาเจ๋อตุง ผู้นำจีนใหม่ เขียนโดย เทิด ประชาธรรม
48. นอร์แมน เบทูน แปลโดย ศรีนรา
49. บนเส้นทางไปสู่สังคมนิยมจีน เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
50. บทกวีเพื่อผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย วิทยากร เชียงกูล
51. คาร์ลมาร์กซ์ ค่าจ้าง ราคา และกำไร แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
52. บันทึกของไพ่ฉวิน ม่านเทียนเสื่อ แปลโดย แจ่ม จรัสแสง
53. ประวัติศาสตร์ 30 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขียนโดย หูเฉียวมุ เจอดจำรัสแปล
54. ถังเหล่ยเวียดนาม เขียนโดย อุดร ทองน้อย
55. ทหารน้อยจางก่า เขียนโดย สีกวงเย่า
56. แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ เฟรเดอริค เองเกลส์
57. บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
58. ปัญหาลัทธิเลนินในยุคของเรา เขียนโดย ชมรม ดาวรุ่ง
59. แนวร่วมปลดแอกของโฮจิมินห์ เขียนโดย บัณฑูร เวชสาร
60. นิพนธ์ปรัชญา 4 เรื่องของประธานเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ชมรมหนังสือรวงข้าว
61. แนวทางแห่งการต่อสู้ แนวทางแห่งชัยชนะ เขียนโดย กลุ่มพลังชน
62. นักศึกษาจีนแนวหน้าของขบวนการปฏิวัติสังคม แปลโดย เทิด ธงธรรม วรรณา พรประเสริฐ
63. ด้วยเลือดและชีวิต เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
64. แนวร่วมเอกภาพเพื่อการปลดแอกแห่งชาติ เขียนโดย ชมรมหนังสืออิสรภาพ
65. ทฤษฎีการเมืองว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ แปลโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
66. ชีวทัศน์หนุ่มสาว ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่บริษัทบพิธการพิมพ์ 70 ถนนราชบพิธ กรุงเทพมหานคร
67. ชีวทัศน์เยาวชน ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
68. ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง แปลโดย สุเทพ สุนทรเภสัช
69. เช กูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ เขียนโดย ศรีอุบล
70. ชีวิตในคอมมูน เขียนโดย สันติสุข
71. ชนกรรมาชีพทั่วโลก จงสามัคคีกันคัดค้านศัตรูร่วมกับเรา เขียนโดย สำนักพิมพ์เข็มทิศ
72. ซ้ายทารก เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
73. สืบทอดภารกิจปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
74. สุนทรพจน์ของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ศรีเพ็ชรการพิมพ์ 169/120 ตรอกวัดดีดวด บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
75. สงครามปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
76. สงครามกองโจรของ เช กูวารา แปลโดย ฤตินันทน์
77. สรรนิพนธ์ โฮจิมินห์ แปลโดย วารินทร์ สินสูงสุด ปารวดี วรุณจิต
78. เสียงร้องของประชาชน แปลโดย จิรนันท์ พิตรปรีชา
79. สงครามยืดเยื้อ เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
80. สรรนิพนธ์เลนิน คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย โรคไร้เดียงสา แปลโดย นพคุณ ศิริประเสริฐ
81. สรรนิพนธ์เลนิน เพื่อคนจนในชนบท แปลโดย พัลลภา ปั้นงาม
82. สงครามอุโมงค์ เขียนโดย เจ๋อเหมย ปี้เหลย
83. สตรีกับภารกิจแห่งการปฏิวัติ เขียนโดย จินดา ไชยโยทยาน
84. ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ ต่อสู้กับคลื่นลม ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
85. ระลึกคอมมูนปารีสครบร้อยปี เขียนโดย ชมรมหนังสือตะวันแดง
86. ศัพทานุกรมปรัชญา เขียนโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
87. สาธารณรัฐประชาชนจีน แปลโดย ถ่องแท้ รจนาสัณห์
88. เมาเซตุง เขียนโดย ศิรวิทย์
89. ยูโกสลาเวีย เป็นสังคมนิยมจริงหรือ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
90. ปัญหาปฏิวัติประเทศไทย เขียนโดย กลุ่มชนภูเขา
91. เอกสารสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรักชาติ
92. โฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ไทย เขียนโดย สายใย เทอดชูธรรม
93. พระเจ้าอยู่ที่ไหน เขียนโดย นายผี
94. พระสงฆ์ลาวกับการปฏิวัติ เขียนโดย คำตัน
95. แล้วเราก็ปฏิวัติ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ เจริญวิทย์การพิมพ์ บ้านพานถม กรุงเทพมหานคร
96. รัฐกับการปฏิวัติ เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
97. เลนินจักรวรรดินิยมชั้นสูงสุดของทุนนิยม แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
98. ว่าด้วยปัญหาที่ดินและชาวนาของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
99. วีรสตรีจีนปฏิวัติหลิวหูหลาน แปลโดย วีรจิตร
100. อัลเยนเด้วีรปฏิวัติ เขียนโดย สูรย์ พลังไทย
อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ข้อ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ รวม 100 ฉบับ ตามรายชื่อข้างต้นซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครอง

ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม 2520
สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง


ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารและสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียน แสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำให้ผู้อ่านเกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินไม่ว่าวิถีทางใด อันเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ ตามบัญชีรายชื่อต่อไปนี้
1. กบฏ-วรรณกรรมซาดิสม์ เขียนโดย โกสุม พิสัย
2. กบฏปากกา จัดพิมพ์โดย ชมรมสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. กวีการเมือง เขียนโดย โยธิน มหายุทธนา
4. การต่อสู้ทางชนชั้นและการปฏิวัติสังคม ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
5. การต่อสู้ของกรรมกรไทย ไม่ปรากฏผู้เขียน
6. การศึกษาเพื่อมวลชน เขียนโดย จักรกฤษณ์ นาคะรัต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นิโคลัส เบนเนสท์ จูเลียส ไนเยียเร รวบรวมโดย สมาน เลือดวงหัด เริงชัย พุทธาโร
7. การศึกษาสำหรับผู้กดขี่ เขียนโดย เปาโลว์ แฟร์ แปลโดย ช. เขียวพุ่มแสง
8. การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพกับลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
9. กอ.รมน. องค์การสัตว์นรกของอเมริกันในประเทศไทย เขียนโดย ยอดธง ทับทิวไม้
10. กลุ่มทุนนิยมผูกขาดในประเทศไทย เขียนโดย ณรงค์ เพชรประเสริฐ
11. กลั่นมาจากสายเลือด เขียนโดย วัฒน์ วรรลยางกูร
12. กรรมกรในระบบนายทุน เขียนโดย สุภชัย มนัสไพบูลย์
13. กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย เขียนโดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
14. กงล้อประวัติศาสตร์จีน เขียนโดย สุวรรณ วิริยะผล
15. การวิจัยเพื่อขายชาติ เขียนโดย รัก เอกราชไม้กล้า
16. ก่อนสู่เส้นทาง จัดพิมพ์โดย องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒบางแสน
17. ก่อนกลับบ้านเกิด จัดพิมพ์โดย ชมรมนักแปลนิรนาม
18. กฎหมายสหภาพแรงงานประชาชนจีน ธรรมนูญสหภาพแรงงานประชาชนจีน การประทับแรงงาน เขียนโดย แก้ว กรรมาชน
19. กรณีพิพาทไทย-ลาว จัดพิมพ์โดย กลุ่มนักศึกษา ปัญหาไทย-ลาว
20. ขบวนการกรรมกรในประเทศไทย เขียนโดย พิชิต จงสถิตย์วัฒนา
21. ขบวนการเรดการ์ด เขียนโดย จำลอง พิศนาคะ
22. ขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
23. ความเรียงว่าด้วยศาสนา เขียนโดย ยอร์จ ทอมสัน แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
24. ความเป็นเอกภาพของชาติกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์ แช่ม พนมยงค์ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ภูเขาไฟ สุพจน์ ด่านตระกูล สุภัทร์ สุคนธาภิรมย์
25. คาร์ลมาร์กซ์ แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
26. โครงสร้างสถานการณ์ จัดพิมพ์โดยกลุ่มนักศึกษาประชาชนเพื่อต่อต้านสงครามจิตวิทยา
27. คู่มือรัฐประหาร เขียนโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์
28. ใครละเมิดอำนาจอธิปไตย เขียนโดย เขียน ธีระวิทย์ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
29. คัมภีร์ของผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย เปาโลว์แฟร์ แปลโดย จิราภรณ์ ศิริสุพรรณ
30. คำประกาศของความรู้สึกใหม่ เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
31. คำประกาศเพื่อสังคมใหม่ เขียนโดย จูเลียส ไนยาเร แปลโดย สันติสุข โสภณศิริ
32. ครอง จันดาวงศ์ และชีวิตบนเทือกเขาภูพานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ปรากฏผู้เขียน
33. คาร์ลมาร์กซ์ แรงงานรับจ้างและทุน เขียนโดย คาร์ลมาร์กซ์ แปลโดย รจเรข ปัญญาประสานชัย
34. คิดอย่างเยาวชนใหม่ จัดพิมพ์โดย กลุ่มหนังสือตะวันแดง
35. จงพิทักษ์เจตนารมย์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์
36. จงร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนิยม เขียนโดย กิม อิล ซอง แปลโดย กิตติกุล
37. จากเล็กซิงตันถึง…สิบสี่ตุลา จัดพิมพ์โดย ชมรมรัฐศึกษา สจม.พรรคจุฬาประชาชน
38. จีน…หลังการปฏิวัติ เขียนโดย สิทธิสถิตย์
39. โฉมหน้าจีนใหม่ จัดพิมพ์โดย องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
40. โฉมหน้าศักดินาไทย เขียนโดย สมสมัย ศรีศูทรพรรณ
41. มนุษยธรรมกับการต่อสู้ทางชนชั้น เขียนโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
42. มาร์กซ์ จงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร? เขียนโดย สุภา ศิริมานนท์
43. ศัตรูประชาชน แปลโดย กวี ศรีประชา
44. เศรษฐกิจในระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่ เขียนโดย เสิ่นจื้อหย่วน แปลโดย ส.ว.พ.
45. เศรษฐกิจของจีน (โดยสังเขป) เขียนโดย เจิ้งสือ
46. เศรษฐศาสตร์เพื่อมวลชน เขียนโดย วิภาษ รักษาวาที
47. ศัพทานุกรมปรัชญาว่าด้วยจิตนิยมวัตถุนิยม เขียนโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
48. แนวทางการต่อสู้ของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา จัดพิมพ์โดย กลุ่มนักศึกษาประชาชนเพื่อพัฒนาชนบท
49. แนวร่วมปลดแอกประชาชนชาวไทย เขียนโดย โดนัลด์ อี วีเทอร์บี แปลโดย แสงเพลิง
50. แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์โลก เขียนโดย ฌี่ชุน แปลโดย ศรีอุบล
51. นิพนธ์ 5 บท ประธานเหมาเจ๋อตุง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ปฏิวัติ
52. ร้อยกรองจากซับแดง เขียนโดย ประเสริฐ จันดำ
53. รุ่งอรุณ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
54. แด่เยาวชน ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
55. เบทูนนายแพทย์นักปฏิวัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
56. ปลุกผีคอมมิวนิสต์ เขียนโดย ธนาลัย
57. ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของผู้หญิง เขียนโดย ฤดี เริงชัย
58. หลักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์เบื้องต้น เขียนโดย เอิร์นเนสท์ แมนเดล แปลโดย ทวี หมื่นนิกร
59. หลักลัทธิเลนินกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ เขียนโดย เอ.นูเบอร์ก แปลโดย รุ่งอรุณ ณ บูรพา
60. หลักลัทธิมาร์กซ์เลนิน เล่ม 1-3 แปลโดย ทวี หมื่นนิกร
61. โต้ลัทธิแก้ไทยวิจารณ์แห่งวิจารณ์ เขียนโดย อุทิศ ประสานสภา
62. ตะวันสีแดงส่องทาง เขียนโดย อุดร ทองน้อย
63. ตะวันสีแดง เขียนโดย สุทัศน์ เอกา
64. ตะวันดวงใหม่แห่งบูรพา เล่ม 1-2 เขียนโดย ทวี เกตะวันดี
65. ตื่นเถิดชาวเอเชีย เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
66. ไทย-ไท จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ไทย-ไท
67. วิญญาณปฏิวัติ เขียนโดย สีหนาท
68. ทนายแก้ต่างของลัทธิล่าเมืองขึ้นใหม่ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง
69. ด้วยมือที่หยาบกร้าน เขียนโดย นายผี รมย์ รติวัน ช.เพ็ญแข คุณาวุฒิ ไพฑูรย์สุนทร ศิริรัตน์ สถาปนวัฒน์
70. เดินทางซ้าย เขียนโดย ณรงค์ วิทยไพศาล
71. พิทักษ์เจตนารมณ์วีรชน จัดพิมพ์โดย ฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ งานรำลึกวีรชน 14 ตุลา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
72. วิพากษ์ นายผีโต้ลัทธิแก้ไทยวิจารณ์แห่งการวิจารณ์ อุทิศ ประสานสภา เขียนโดย อำนาจ ยุทธวิวัฒน์
73. วิพากษ์ ทฤษฎีจอมปลอม เขียนโดย กระแสทาน พรสุวรรณ
74. พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน เขียนโดย รวี โดมพระจันทร์
75. วีรชนอาเซีย จัดพิมพ์โดย กองบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
76. ทัศนคติ ชีวิตที่ก้าวหน้า จัดพิมพ์โดย กลุ่มพัฒนา วัฒนธรรม
77. โลกทัศน์เยาวชน เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
78. ไทยกึ่งเมืองขึ้น เขียนโดย อรัญ พรหมชมภู
79. วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน เขียนโดย นศินี วิทูธีรศานต์
80. ที่เขาเรียกกันว่าลัทธิแก้นั้นหมายความว่ากระไร และความเป็นมาแห่งลัทธิรีวิสชั่นนิสม์ เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์
81. ฟ้าทอง เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
82. ยุทธวิธีของชาวบอลเชวิค เขียนโดย เจ.วี สตาลิน แปลโดย นพพร สุวรรณพาณิช
83. ผู้หญิง (1) เขียนโดย ปนัดดา เลิศล้ำอำไพ จีรนันท์ พิตรปรีชา ศรีศักดิ์ นพรัตน์ สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์
84. เยาวชนผู้บุกเบิก แปลโดย ศรีสารคาม
85. สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง (ทุกภาค ทุกตอน) เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
86. สรรนิพนธ์การทหารเหมาเจ๋อตุง เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
87. ผ่าตัดพุทธศาสนา จัดพิมพ์โดย ฝ่ายวิชาการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
88. วันกรรมกร นครราชสีมา ไม่ปรากฏผู้เขียน
89. ซ้องกั๋ง แบบอย่างลัทธิยอมจำนน เขียนโดย ศิวะ รณชิต
90. ศาส์นศยาม ไม่ปรากฏผู้เขียน
91. โลกทัศน์เยาวชน ฉบับเสียงเยาวชน เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
92. สภาพการกดขี่ขูดรีด ชาวนา ชาวไร่ไทย เขียนโดย จรัส จัณฑาลักษณ์
93. เยาวชนแดง “นิทานพื้นเมืองยุคปฏิวัติ” ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
94. ระบบทุนนิยมในสังคมไทย เขียนโดย จันดา สระแก้ว
95. กบฏ ร.ศ.130 เขียนโดย ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์
96. ไทย-ไดเจสท์ ฉบับที่ 4 ปีที่ 1 พฤษภาคม 2518 บรรณาธิการบริหาร มนตรี จึงสิริอารักษ์
97. LENIN SELECTED WORKES
98. LENIN ON WORKERS CONTROL AND THE NATIONNALISATION OF INDUSTRY
99. LENIN ON THE UNITY OF THE INTERNATIONAL : COMMUNIST MOVEMENT
100. MARX ENGELS LENIN
101. MAN AND THE SCIENTIFIC AND TECHNOLOGICAL REVOLUTION
102. SOCIALISM TODAY
103. TERIA Y CRITICA PROGRESO
104. YOUTH AND THE PARTY
อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ข้อ 2, ข้อ 4 และข้อ 5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าเอกสารและสิ่งพิมพ์ รวม 104 ฉบับ ตามบัญชีรายชื่อข้างต้นนี้ เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครอง

อนึ่ง ให้เจ้าของผู้ครอบครองเอกสารและสิ่งพิมพ์ ตามบัญชีรายชื่อข้างต้นนี้ และเจ้าของผู้ครอบครองเอกสารและสิ่งพิมพ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 94 ตอนที่ 18 วันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2520 นำส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ ท้องที่ที่ตนอาศัยอยู่ ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2520
สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

วรรณกรรมบาดแผล
วรรณกรรมเพื่อชีวิตหลัง 20 ตุลาคม 2520
รัฐบาลเผด็จการพลเรือนถูกโค่นล้มเมื่อวันที่ 20 ตุลา 20 หลังจากใช้อำนาจเผด็จการอย่างเมามันได้เพียงหนึ่งปี บรรยากาศการเมืองเริ่มผ่อนคลาย เมื่อเหล่าปัญญาชนเริ่มกลับเข้าเมืองหลังประกาศนโยบาย 66/23 วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มปรากฏตัวขึ้นอีก คราวนี้ส่วนใหญ่จะพูดถึงความสะเทือนใจเจ็บช้ำ, ปวดร้าวจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และความผิดหวังจากการสู้รบร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ วรรณกรรมยุคนี้จึงเปรียบเสมือนยาสมานแผลในใจสำหรับคนหนุ่มสาวที่มีความหวังดีต่อบ้านเมือง แต่ต้องพบกับความผิดหวัง, พ่ายแพ้ในการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า มีบางคนขนานนามวรรณกรรมยุคนี้ว่าเป็น “วรรณกรรมปลาสเตอร์” สร้างสรรค์เพื่อสมานแผลในใจของนักปฏิวัติหนุ่มสาว

วรรณกรรมที่กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เป็นเรื่องสั้นและนวนิยายมี
“ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ของ อัศศิริ ธรรมโชติ
“แม่” ของ เหลืองฝ้ายคำ
“จนกว่าจะถึงวันนั้น” ของ พีร์พลา
“ดอกไม้เปื้อนเลือด” ของ ออระสี
“ดอกไม้ตาย” ของ ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล
“วันเวลาที่ผ่านเลย” ของ สายไท
“ดอกไม้บนปลายปืน” ของ แม่จันทร์
“ทางสายที่ต้องเลือก” ของ ชามา
“บนราวแห่งความคับแค้น” ของ พิบูลศักดิ์ ละครพล
“ผู้หญิงคนนั้นชื่อศาวิกา” ของ สมศักดิ์ วงศ์รัฐ
“ภาพเขียนที่ยังไม่เสร็จ” ของ แขลดา วงศ์กสิกร

ที่เป็นกวีนิพนธ์มี “อิสระและเสรี” ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์, “เขมรกล่อมลูก” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, “ดาวศรัทธายังโชนจ้าแสง” ของ พนม นันทพฤกษ์ (สถาพร ศรีสัจจัง)

ผลงานรวมเล่มเรื่องสั้นและนวนิยาย ได้แก่
“แสงดาวแห่งศรัทธา”, “สำนึกขบถ” ของ คมทวน คันธนู
“กลั่นจากสายเลือด”, “ข้าวแค้น”, “ความหวัง เมื่อเก้านาฬิกา (หรือนกพิราบสีขาว)”, “ใต้เงาปืน”, “ดงแดง”, “ทลายแนวปิดล้อม” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร
“คำขอโทษ” ของ หนวนอู้
“ฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึง” ของ วิทยากร เชียงกูล
“พิราบเมิน” ของ รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก)

หลังการกลับคืนเมืองวรรณกรรม “บาดแผล” ทั้งบทกวี, เรื่องสั้น, นวนิยายเล่มเด่นๆ เช่น
“คืนก่อนการก่อเกิด”, “เรือลำใหม่”, “กลับไปหาแสงสว่าง”, “แด่ความรักอันงดงาม” ของ วิสา คัญทัพ
“ฝันให้ไกลไปให้ถึง”, “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร
“กลางเปลวแดด” ของ ประเสริฐ จันดำ
“ไปเหนือก้อนเมฆ” ของ เสถียร จันทิมาธร
“ฤดูกาล”, “ดอกไผ่”, “มหาวิทยาลัยชีวิต” ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
“ใบไม้ที่หายไป” ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา
วรรณกรรมเพื่อชีวิตพลิกฟื้นอีกครั้ง

หนทางข้างหน้า
ระยะหลังมีการวิจารณ์วรรณกรรมเพื่อชีวิตเรื่อง “สูตรสำเร็จ” ในแง่ความซ้ำซากของเนื้อหา ความไม่เป็นเอกภาพระหว่างรูปแบบและเนื้อหาความจริงใจของผู้เขียน การมีเป้าหมายเพื่อการเมืองอย่างเดียว ฯลฯ คำวิจารณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักเขียนแนวเพื่อชีวิตนำไปพิจารณาปรับปรุงตนเอง

วรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วงสิบปีหลังไม่มีกลิ่นอายของการต่อสู้ที่ดุดันมักกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคมในลักษณะแปลกแยก ตัวละครแสดงความโดดเดี่ยวและเป็นปัจเจกชนสูง กล่าวถึงความล่มสลายของสังคมชนบท ความเสื่อมโทรมของสถาบันครอบครัว, ศาสนา, จริยธรรม, สิ่งแวดล้อม สะท้อนปัญหาโดยไม่มีการชี้นำอย่างในอดีต
นอกจากนี้นักเขียนรุ่นใหม่มิได้ใช้แนวสมจริงเป็นแนวทางเดียวในการเสนอวรรณกรรมเพื่อชีวิตอีกต่อไป มีการทดลองใช้แนวสัญลักษณ์นิยม แนวแอบเสิร์ด แนววิทยาศาสตร์ แนวเซอร์เรียลลิสม์ แนวจินตนาการ (FANTASY) แนวสัจนิยมมายา (Magical Realism) เป็นต้น

สิ่งที่สนับสนุนการเติบโตของวรรณกรรมเพื่อชีวิตในช่วงที่ผ่านมา คือ นิตยสารทางวรรณกรรม เช่น โลกหนังสือ ถนนหนังสือ ช่อการะเกดและนิตยสารไรเตอร์ นิตยสารเหล่านี้เป็นเวทีสนับสนุนการสร้างสรรค์วรรณกรรม ส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ให้เข้ามาบนถนนวรรณกรรมอย่างไม่ขาดสาย

เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 ทำให้วิญญาณต่อสู้ของนักเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตคุโชนขึ้นอีก บทกวีที่ถ่ายทอดเหตุการณ์หลั่งไหลออกมามากมาย
“น้ำค้างกลางถนน” ของ ไพบูลย์ วงษ์เทศ
“หมายเหตุประชาชน” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
“ใครฆ่าประชาชน” ของ ยืนยง โอภากุล
“ปฏิญาณ” ของ ทิวา สาระจูฑะ
“แด่วีรชน” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
“ฝนแรก” ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนร่วมสมัย ทั้งที่อยู่ในเหตุการณ์และไม่อยู่ในเหตุการณ์ ความทรงจำนั้นถูกกรองร้อยเป็นวรรณกรรมเพื่อปลุกจิตสำนึก สร้างอุดมคติของความเสียสละเพื่อผู้อื่นและสังคมส่วนรวม จิตวิญญาณของ 14 ตุลา 16 จึงยังคงสืบสานสู่คนรุ่นหลังอย่างเข้มข้น เข้มแข็งไม่มีวันดับสูญ

ถึงวันนี้ สังคมเปลี่ยนไป ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติรุนแรงอีกครั้ง กลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของ IMF คนตกงานมากมายนับล้านคน สังคมตกอยู่ในภาวะตึงเครียดสันสนครั้งใหญ่อีกครั้ง สภาวการณ์นี้จะเป็นพลังผลักดันให้มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมที่แหลมคมออกมาอีกหรือเปล่า

วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะกลับมาชี้นำสังคมได้อีกหรือไม่ เราคอยคำตอบอยู่
---------------------------------------------
ที่มา : คัดจากหนังสือ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516” จากข้อมูลของฝ่ายนิทรรศการ 25 ปี 14 ตุลา ในชื่อเดิมว่า “25 ปี 14 ตุลา มองผ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สายธาร, ตุลาคม 2541. ทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2492-ปัจจุบัน

Labels: , ,

บันทึกจากอดีตของ สมชาย เชื้อไทย

ป้าทัศน์ พี่สมบัติ คุณยายและนายปรีดี

พ ฤ ษ ภ า ค ม ๒ ๕ ๔ ๑ : Bad Godesberg

ป้าทัศน์คนดีเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในเยอรมันคนสุดท้าย ก่อนบ้านก.พ.ที่พักพิงของ นักเรียนไทยทุกยุคทุกสมัยจะถูกปิดไป

เมื่อมาถึงเยอรมันใหม่ๆ ผมคงคล้ายกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่มัวงมอยู่กับการเรียนภาษา เรียนรู้ชีวิตแปลกใหม่ในโลกกว้าง ท่องบ่นงึมงำกับตัวเอง เอาตัวให้รอด เอาตัวให้รอด ได้ยินข่าวกิจกรรมนักเรียนอยู่บ้างแล้วก็ได้เข้าร่วมแบบประปราย แต่เท่าที่เห็นคนอื่นๆ ก็มาประปรายเหมือนกัน ไม่น่าตื่นเต้น ครั้งแรกที่เห็นผู้คนไปชุมนุมร่วมกันเยอะที่สุด คงเป็นงานเลี้ยงส่งป้าทัศน์ผู้ป็นขวัญและกำลังใจของนักเรียนทุกคน งานเลี้ยงอาลัยปิด บ้านก.พ. ครั้งนั้นนักเรียนไทยมากันเกือบร้อย ทุกคนตั้งใจมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง เรามีอภิปรายหนักๆเรื่องวิกฤติประเทศชาติ แม้ในการโต้วาทีสนุกๆ ผมยังจำได้ว่ามีน้อง ผู้หญิงคนหนึ่งจากสตุทการ์ท เธอยังเด็ก แต่พูดอะไรไว้น่าฟังมาก

หลังจากหนูดูรายการซีเอ็นเอ็น เห็นข่าวเมืองไทยล่มสลาย น้ำตามันไหลออกมาอย่างห้าม ไม่ได้ ได้แต่บอกตัวเอง รีบเรียนให้จบ อย่าผลาญภาษีประชาชน ต้องกลับไปกอบบ้านกู้เมือง
วันนั้นตอนเย็นพวกเราทั้งหมดได้ถ่ายภาพหมู่ไว้ร่วมกันด้วย ภาพนี้มีความหมายสำหรับผม มากครับ ว่างๆ ผมมักจะหยิบมาดูเสมอ คนนั้นยังไม่รู้จัก คนนี้เป็นใคร เรียนอะไร อยู่เมืองไหน พอรู้จักใครเพิ่ม ก็เอาภาพนี้มาดูอีก อ๋อคนนี้นี่เอง มีบางคนถึงวันนี้เรียนจบ กลับไปแล้ว

ทีแรกผมนึกว่ามีแต่ผมที่ชอบดูภาพนี้อยู่คนเดียว แต่เมื่อไปเยี่ยมเพื่อนแถบรัวห์เกบีท สองคน เห็นเค้าเอาภาพนี้ติดไว้ที่ฝาห้องเหมือนกัน หนึ่งในสองเอาภาพใส่ไว้ในเครื่อง คอมพิวเตอร์ด้วย เปิดคอมพ์ปุ๊บ เห็นหน้าเพื่อนๆทันที บ้านรุ่นน้องที่ฮันโนเวอร์ก็ติดภาพนี้ ไว้ข้างฝาแบบเดียวกัน ผมเลยสรุปเอาว่า ลึกๆแล้วพวกเราคงอยากทำอะไรร่วมกัน ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอย่าง นั้นอีก แม้เพื่อนคนหนึ่งจะบอกว่า งานนั้นมัน einmalig โว้ย ไม่มีอีกแล้ว เพื่อนผมบอกว่า กิจกรรมนักเรียน ส.น.ท.ย. ยุคหลังๆนี้ ใครได้เป็นนายกก็นั่งท่องไปเถิด ปีหนึ่งออกหนังสือ ๔ เล่ม มีกิจกรรม ๔ อย่าง วางพวงมาลาวันปิยะ วันเฉลิมเอาฟ้อนรำไปโชว์ขาย Tombola หาเงินเข้าสมาคม จัดคุยวิชาการ ๑ ครั้ง งานชุมนุมฤดูร้อน ๑ ครั้ง บางปีอาจจะแถมงาน เตะฟุตบอลกับนักเรียนทหารอีกครั้ง เป็นอันจบ แต่ละปีใครเข้ามาเป็นกรรมการนักเรียน ก็ท่องสูตรสำเร็จนี้ไป กรรมการมีหน้าที่เกณฑ์คนเข้าร่วมงาน ส.น.ท.ย แปลว่า สำ-นักงาน-ทน-อยู่ ทนๆ ทำไปให้หมดวาระ


พ ฤ ษ ภ า ค ม ๒ ๕ ๔ ๒ : Duesseldorf

ผมพบพี่สมบัติโดยบังเอิญที่ดุสเซลดอร์ฟ คราวที่พี่สมบัติมาเป็นผู้ประสานงานให้กลุ่ม Activist แรงงานไทยมาดูงานทางนี้ นอกเหนือจากการไต่ถามทุกข์สุขของบ้านเมืองใน สถานการณ์ปัจจุบัน ผมยังได้ฟังคำขับขานเรื่องราวของส.น.ท.ย. ในวันวานด้วย
ช่วงพี่อยู่มันแรงมากน้องเอ๋ย

ผมเองนึกภาพไม่ออกหรอกครับว่าสมัยที่พี่แกอยู่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนมันจะแรงสักกี่ดีกรีกัน
วันนึงนัดพบกันที่แฟรงเฟิร์ต มันเอาขวดเบียร์ทุบให้แตกเป็นปากฉลาม แล้วเข้ามาคว้าคอ ผม ถามว่า มึงคอมมิวนิสต์ใช่ไหม กูจะเอามึงให้ตาย
พี่สมบัติเล่าถึงกิจกรรมนักเรียนไทยในยุคที่มีการประจันหน้าขวาซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผม เพิ่งได้รู้ว่า สมาชิกพคท.ก็มีสาขาอยู่ทางนี้ด้วย

ผมเป็นซ้าย ตอนนี้ผมก็ยอมรับว่ายังเป็นซ้ายอยู่ อุดมการณ์ที่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมจะ ไม่ดีได้อย่างไร การช่วยคนยากจนคนถูกเอารัดเอาเปรียบผิดตรงไหน ยุคนั้นมันเป็นยุค แสวงหา ยุคต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ไม่ใช่ทำเพื่อคุยว่ามีอุดมการณ์ เป็นยุคเบ่งบานอะไรนะ แต่ทำ เพราะพวกเราไม่มีเสรีภาพจริงๆ เราไม่ได้เรียกร้อง เสรีภาพเพื่อจะเป็นฮีโร่ทางการเมือง แต่ทำเพื่อขอเสรีภาพให้กับประชาชนบ้าง รัฐบาลธานินทร์ สัญญาว่าจะให้ประชาธิปไตยแน่ๆ แต่ต้องมีขั้นมีตอน ให้รอสิบสองปี ฟังแล้วไม่เห็นความหวังเลย คนรุ่นพวกคุณอาจฟังไม่ค่อย เข้าใจก็ได้ ยุคของพวกคุณอายุครบ ๑๘ เลือกตั้งได้ ทำอะไรได้ทั้งนั้น พูดจาอะไรไม่มีใคร มากีดกั้น สมัยผม เราโดนครอบจนมืดมิด ข่าววิทยุมีแต่กรมประชาสัมพันธ์กับวิทยุทหาร หนังสือพิมพ์ถูกเซนเซอร์ ใครออกหน้าออกตาคัดค้านรัฐบาลเผด็จการ โดนมาตรา ๑๗ สั่งยิงเป้าหมด ผมเองตอนอายุครบยี่สิบดีใจจะแย่ จะได้เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต พอใกล้ถึงวันรัฐบาลถนอมกลับปฏิวัติตัวเองเสียฉิบ ชวดไป อีกสองปีจะได้เลือกกันใหม่ มันก็ปฏิวัติกันอีก ชวดอีกเช่นเคย เลยได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่เยอรมัน เลือกตั้งผู้แทน นักศึกษา AsTASSของมหาวิทยาลัย เก๋มั๊ย

ทำอะไรกันมั่งครับนักศึกษาสมัยนั้น ผมถามด้วยความอยากรู้
สารพัด พี่สมบัติว่าไปพร้อมกับพลิกจุลสารเพื่อนไทยของพวกเราเล่มที่ผมติดมือไปด้วย ในวันนั้น
นี่อะไร พี่แกถามเมื่อดูตารางกิจกรรมส.น.ท.ย.ประจำปี ๒๕๔๒
อะไรวะ ออกหนังสือเป็นกิจกรรมแล้วหรือวะ กิจกรรมมันต้องพบปะ พูดจากัน

สมัยผมเจอกันกินนอนด้วยกันตลอด บ้านผมมากันทียี่สิบ สามสิบ มีอยู่วันเพื่อนตื่นมาบ่นอุบ ว่า เมื่อคืนเหมือนนอนอยู่กลางทะเล ก็มันเล่นไปนอนในครัวข้างถังขยะมีปลาเน่าในถังก็ไม่ เอาไปทิ้งกัน ในบ้านว่าไปแล้วหนาวฉิบหาย Heizung เปิดไม่ได้ ไม่มีตังค์จ่ายค่าไฟ แต่สนุก ได้เจอกัน คุยกัน ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คิดทำอะไรดีๆ ร่วมกัน กาแฟ หมดเป็นโอ่งๆ เรามีอภิปราย รณรงค์การเมือง ทำกิจกรรมทุกรูปแบบ แข่งฟุตบอล

จัดงานรวมน้ำใจช่วยน้ำท่วมก็มีเพราะตอนนั้นมีน้ำท่วมใหญ่ทางภาคใต้ของไทย กิจกรรมที่ทำในกลุ่มนักเรียนไทยไม่ใช่มีแค่ในเยอรมัน ทางฮอลแลนด์มีธีรยุทธ บุญมี วิทยากร เชียงกูล สุภาพ พัสอ๋อง สมภพ มานะรังสรรค์ ทางฝรั่งเศสมี ไอ้แว่น เสาวนีย์ ลิมมานนท์ วิษณุ วรัญญู สวีเดนก็มีเยอะ ที่นั่นลี้ภัยง่าย พวกหนีวันมหาวิปโยคจากเมืองไทย มาทั้งนั้น

เราร่วมกับนักเรียนในอังกฤษทำหนังสือไทยยุโรป ทางอังกฤษมีธัญญา ผลอนันต์ ศิษย์เอก อาจารย์ป๋วยเป็นหัวเรือใหญ่ พวกเราได้ไปพูดที่สามัคคีสมาคมของเขาด้วย อาจาย์สุลักษณ์ ก็ช่วยสนับสนุนอยู่กับฝรั่ง เรามีกลุ่ม Thai-Deutsch Dialog แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนเยอรมันประจำ มาอยู่บ้านเมืองเค้าต้องรู้จักเค้าจริง ต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าเค้าสร้างชาติอย่างไร ถ้ามัวแต่ปิด ตัวเองก็อยู่เมืองไทยซะดีกว่า มาทำไมให้เสียค่าเครื่องบิน

สมาคมไทยพุทธพวกเราก็มีบทบาทช่วยก่อตั้ง เรื่องนี้ Idea ของธีรยุทธ เค้าบอกถ้าจะ ทำงานการเมือง ต้องหาคนสนับสนุน แล้วจะมีที่ไหนที่คนไทยจะรวมกันได้ดีเป็นพลัง ถ้าไม่ใช่ที่วัดเรื่องของศาสนา
กลุ่มช่วยเหลือผู้หญิงเราก็ทำ ผมได้ไปออกทีวีเยอรมันช่อง ZDF รายการ 3 nach 9 ออกวิทยุ พูดเรื่องผู้หญิงนี้แหละ ปัญหาของเราก็ต้องชี้แจงให้เค้าเข้าใจด้วย แล้วคนของเค้า ก็มีส่วนผิดเหมือนกัน จริงๆ ปัญหาผู้หญิงนี้น่าจับนะ เป็นตัวอย่างปัญหาของสังคมไทยที่มา ปรากฏทางนี้ ฝึกไปช่วยเค้า ก่อนที่จะไปช่วยแก้ปัญหา อีกร้อยพันเก้าที่เมืองไทยเมื่อเรียน จบกลับไป

การทำกิจกรรมมันก็ดี ได้เพื่อน ได้ฝึกตน ได้รู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหา ได้ช่วยเหลือคน เรียนวิชากันคนละอย่างก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นเพื่อนต้องมีอุปสรรคเลย
ผมเรียนวิศวะ ก็ได้เพื่อนซี้ปึ้กเป็นนักเรียนกฎหมาย พวกเราที่ทำกิจกรรมด้วยกันที่นี่ เรียนจบกันไปได้ทั้งนั้นไม่มีปัญหา ตอนนี้ไปเป็นใหญ่เป็นโตเยอะ เป็นนักวิชาการดังๆ ก็หลายคน ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะทำกิจกรรมอย่างนี้อีก พวกเราทำกิจกรรมกันด้วย จิตวิญญาณ
ตอนเลือกตั้งนายกส.น.ท.ย.สนุก หาเสียงกันมัน ล้อบบี้กันแหลก อุดมการณ์มันไม่ตรงกันนี่ หว่า ผมโชคดีได้เพื่อนหลายคนช่วยหาเสียงให้ ทางเหนือช่วยกันมาก ไอ้สมกวาดเสียงมา ให้เยอะ ทางใต้บอกไอ้บุญช่วยหาเสียงให้หน่อย ถึงวันเลือกตั้งมันโผล่มาคนเดียว บอกว่า เบ็ดเสร็จทางใต้ได้มาหนึ่งเสียง ก็ตัวมันเองนั่นแหละ ขำจะตาย
ผมได้เป็นนายกตอนปีสองห้าหลังจากมาอยู่เยอรมันเกือบสิบปี สถานทูตกับผู้ดูแลก.พ. สมัยนั้น ไม่ชอบเด็กหัวแข็งแบบพวกเราหรอก เราโดน block ตลอด
สมัยคุณอานันท์อยู่ที่นี่ ไปคุยกับผมถึงฮัมบวร์ก ขอให้เบาๆกิจกรรมหน่อย ทั้งที่จริงๆ ตัวแกเอง ก็มีปัญหากับรัฐบาลเผด็จการเยอะ
ที่พวกเรายังจำไม่รู้ลืม ภาคภูมิใจที่สุดคือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับท่านปรีดี สมัยนั้นท่าน มาลี้ภัยอยู่ที่ปารีส การเดินทางจากที่นั่นมาเยอรมันไม่สะดวกสบายเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ท่านก็ให้เกียรติมาหาพวกเราหลายครั้ง
งานครบรอบห้าสิบปีประชาธิปไตย งานเชื่อมสัมพันธ์วันสงกรานต์ ท่านเล่าเรื่อง ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอย่างน่าฟัง ความรู้ท่านกว้างขวาง ความจำเป็นเลิศ ความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจน ท่านติดดินมาก มาปาฐกถาพูดคุยเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้พวกเราฟังเหมือนพวกเราเป็นลูกหลาน สั่งสอนให้รู้จักทำอะไรเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน
พ ฤ ษ ภ า ค ม ๒ ๕ ๔ ๓ : ?

ผมยังไม่รู้หรอกครับว่าพฤษภาปีหน้า ผมจะอยู่ตรงไหน จะพบเห็นเหตุการณ์อะไรหรือได้เจอ ใครๆ อีก รู้แต่ว่าถ้าปีหน้าท่านปรีดีของพี่สมบัติยังอยู่ ท่านจะอายุครบร้อยปี
ผมค่อยๆเปิดหนังสือชื่อชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ อ่านอย่างช้าๆทุกวรรค ทุกตอน ในบทที่ว่าด้วย กิจกรรมพิเศษระหว่างศึกษาในฝรั่งเศส เมื่อปี๒๔๖๖-๖๗
ท่านปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ และนักเรียนไทยในประเทศ อื่นๆ จัดตั้งสมาคมอันหนึ่งอันเดียวกันชื่อว่า สามัคคยานุเคราะห์สมาคม
ท่านปรีดีได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการสมาคมคนแรก สองปีถัดมาเป็นสภานายกสมาคม ท่านปรีดีรณรงค์ให้มีการจัดการปาฐกถาทางการเมืองมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นกระแส ร่วมกันที่จะสร้างระบบการเมือง แบบประชาธิปไตย
นอกจากนี้มีการอภิปรายวิจารณ์การทำงานของเอกอัครราชทูตยุคนั้น เกี่ยวกับเรื่องเงินค่าใช้ จ่ายนักเรียนที่ได้ไม่เพียงพอ มีการเรียกร้องขอเงินเพิ่มจากการเคลื่อนไหวครั้งนั้น
ท่านปรีดีถูกกล่าวหาว่าทำตัวประดุจหัวหน้าสหภาพแรงงาน เจ้าหน้าที่สถานทูต เห็นว่าทำตัว เป็นปฏิปักษ์ ถึงขนาดทำรายงานถวายพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ
เนื่องจากนโยบายหลวงยุคนั้น ไม่ให้นักศึกษามีเสรีภาพในการจัดกิจกรรมทางสังคม หากจะเคลื่อนไหวกัน ก็ต้องไปจัดตั้งเป็นสมาคมใหม่ แต่ยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ สถานทูตอย่างเคร่งครัด
นักศึกษารุ่นเด็กจะต้องไม่เป็นสมาชิกสมบูรณ์ ไม่มีสิทธิออกเสียง อาจทำได้เพียงเข้าร่วม ในค่ายวันหยุดภายใต้การดูแลเป็นพิเศษ พวกนี้จะต้องอยู่ห่างจากนักศึกษารุ่นใหญ่ให้มาก ที่สุดในขณะที่เข้าร่วมกิจกรรมการกีฬาและการบันเทิง
ในบทที่ว่าด้วยประชุมครั้งแรกก่อตั้งคณะราษฎร เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๐ มีผู้เข้าร่วม ๗ คน ร.ท.ประยูร ทหารกองหนุน ร.ต.ทัศนัย ร.ท.แปลก(จอมพลป.) นักเรียนทหารในฝรั่งเศส นายตั้ว นักศึกษาในเยอรมันนี หลวงสิริราชไมตรี ผู้ช่วยสถานทูต นายแนบ เนติบัณฑิต อังกฤษ และท่านปรีดี ในการเคลื่อนไหวทำการใหญ่เพื่อชาติครั้งนั้น ท่านปรีดีมีอายุเพียง ๒๗ ปี
ที่ปกหลังของหนังสือเล่มนี้ท่านปรีดีได้เขียนเป็นหมายเหตุว่า
เขียนขึ้นตามที่นายกสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมัน (นายสมบัติ) ฯ ได้ขอมาเพื่อจะนำไป เสนอในที่ประชุมนักเรียนให้ได้ทราบ
หนังสือเล่มดังกล่าวคุณยายกรุณามอบให้ผม ในคราวที่พวกเราเดินทางไปกราบท่านที่ถนน Bourg la Reign ชานกรุงปารีสเมื่อวันหยุดฟิงสเทนที่ผ่านมาครับ
คุณยายเล่าว่านายปรีดีมีความผูกพันกับการศึกษาทางยุโรป และการจัดกิจกรรมนักศึกษา ตั้งแต่สมัยมาเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศส ส่วนตัวของนายปรีดีเอง ได้อะไรมากจากการมาเป็น นักเรียนอยู่ทางนี้
ได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยสามารถสร้างรากฐานชีวิตให้ผู้คนได้ อำนาจจักต้องเป็นของ ประชาชนอย่างแท้จริง การมาเรียนทางนี้ ทำให้นายปรีดีได้เห็นสิ่งใหม่ นำสิ่งดีไปแก้ไข สังคมไทย
คุณยายพูนศุขกลับมาที่นี่สามปีครั้ง ทุกเช้าจะเดินจากห้องพักของหลาน ไปยังบ้านหลังเก่า ที่ขายให้คนเวียดนามไปแล้ว มีความสุขแม้เพียงได้ยืนมองลอดรั้วเข้าไป รำลึกถึงวันเวลา เก่าๆ ที่สนามเคยใช้จัดพูดคุยกับพวกนักเรียนบ่อยๆ

นักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสได้คุ้นเคยกันทุกยุคทุกสมัย นักเรียนไทยในเยอรมันก็รู้จักเยอะ คุณยายยังไล่ชื่อนักเรียนรุ่นเก่าๆ ให้เราฟังหลายคน คุณน้าวาณี ลูกสาวคนเล็กของท่านปรีดี เล่าต่อว่า
คุณพ่อผูกพันกับนักเรียนที่เยอรมันมาก มีความสุขมากที่ได้ร่วมกิจกรรมด้วย เมื่อได้รับเชิญ ให้ไปร่วมกิจกรรมกับนักเรียนไทยที่เยอรมัน เราก็จะขับรถข้ามประเทศกันไป นักเรียน เยอรมันยุคนั้นหัวก้าวหน้า รวมตัวกันเหนียวแน่น เป็นกำลังสำคัญของนักเรียนในยุโรป

ผมกลับมานั่งนึกถึงคำของคุณยาย นึกถึงหนังสือเล่มนั้น นึกถึงพี่สมบัติ ป้าทัศน์ นึกถึง พวกเราทุกคน และสุดท้ายนึกถึงสังคมไทย

ท่านปรีดีอายุเท่าๆ พวกเราเมื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ ท่านปรีดีเป็น ลูกหลานชาวบ้านนอกเหมือนเรา แต่ได้ทำกิจกรรมสำคัญเพื่อชาติ ปัญหาบ้านเมืองในยุค ของท่านหนักหนาสาหัสพอๆ กับยุคสมัยของเรา

ผมเลยยังหาข้อแก้ตัวไม่ได้ว่า ทำไมพวกเราถึงได้เฉยชากันนัก เทียบกับรุ่นพี่ยุคก่อนๆ ไม่ได้เลย
หรือจะเป็นเพราะวันเวลาเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความเคลื่อนไหวของผู้คนเปลี่ยนแปลง ไปด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ช้าลง ช้าลง จนนิ่งเงียบไม่ไหวติง ไม่รู้ร้อนรู้หนาว กับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
วันเวลาของท่านปรีดีกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีไทย และวันเวลาของพี่สมบัติ กับกระแสแห่งการความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว ตรงหน้านี้มีวันใหม่ของพวกเรามาอยู่แทนที่ การที่ความสงบเงียบ(จนเหงา)เข้ามาเยือน ในที่ซึ่งครั้งหนึ่งมีกิจกรรมผ่านไปมาคลาคล้ำ จะหมายความว่าท้องทะเลแห่งนี้ไร้สิ้นพลังหรือไม่ ผมกับเพื่อนๆ คงต้องร่วมกันรับผิดชอบที่จะค้นคิดหาคำตอบครับ

จาก: http://vereine.freepage.de/cgi-bin/feets/freepage_ext/41030x030A/rewrite/tsvd/calendar/pridi/tat05_02.html

Labels: , , ,

เล่มโปรดของ "วชิรา" บรรณาธิการ aday

เล่มโปรดของ "วชิรา" บรรณาธิการ aday


“...บทกวีเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก...”
โดย...นายอยู่ดี
จาก http://www.praphansarn.com/new/c_link/detail.asp?ID=138

ปัจจุบัน วชิรา อายุ 34 ปี เขาเรียนมาทางด้านโทรทัศน์ จาก ม.รังสิต เป็นครีเอทีพรายการทีวีอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยว ภายหลังการเดินทางข้ามประเทศด้วยรถไฟเพียงคนเดียว เขาเขียนหนังสือเรื่องหนึ่งทำเป็นหนังสือทำมือ ชื่อ STICK NO BILL เรื่องเล่าของการเดินทางคนเดียวครั้งแรก จากนั้นเขาก็เติบโตในวงการหนังสือทั้งในหน้าที่บรรณาธิการ aday และ งานเขียนที่ยังคงผลิดอกออกผลออกมาอย่างสม่ำเสมอ

“ตอบยากเหมือนเวลาคนมาถามว่าหนังในดวงใจคือเรื่องอะไร”เขาตอบเมื่อเราถามถึงหนังสือที่ชอบ ซ้ำยังบอกอีกว่าเมื่อก่อนอ่านหนังสือทุกวัน แต่เดี๋ยวนี้อ่านน้อยลงจนถึงขั้นรังเกียจตัวเอง เขียนคอลัมน์ด่าตัวเองให้คนอื่นฟังใน aday


อย่างไรก็ตาม เขาย่อมมีหนังสือในดวงใจ และต่อไปนี้คือหนังสือที่วชิราชอบ

1.วัยบริสุทธิ์ หนังสือของลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่เขาอ่านตั้งแต่เด็ก วันหนึ่งไปทำสารดีเรื่องสำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว ไปรื้อๆหนังสือเล่มนี้ออกมา ทำให้นึกได้ว่าตอนเด็กชอบเรื่องนี้มาก มันน่ารัก ตรงไปตรงมา เขียนเหมือนเรื่องสั้นของเด็ก

2.เล่มต่อไปคือ Maus เป็นกราฟฟิกโนเวล คนเขียนชื่อ Art Spiegelman เป็นคนวาดการ์ตูน เป็นเรื่องของสงครามโลก เยอร์มันจับยิว เขาสัมภาษณ์พ่อเขาแล้วเล่าว่าเป็นยังไงบ้าง ที่น่ารักคือ เขาวาดรูปยิวเป็นหนู เยอรมันเป็นแมว คนชาติอื่นอย่างโปแลนด์ก็จะเป็นหมา หมูไป เรื่องจะพูดถึงสถานการณ์ที่จะเกิดกับชาวยิวสมัยนั้น เขาใช้การ์ตูนมาสื่อสารเรื่องแบบนี้มันก็ตื่นเต้นดี กำลังคิดอยู่ว่าจะแปลเป็นไทย

3.Hesheit ลืมไม่ได้เลย เหมือนโตมากับมัน เขาอ่านตั้งแต่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Kash อ่านมาเรื่อยจนทุกวันนี้ก็ยังอ่านอยู่ เหมือนตั้ม(ผู้เขียน)เป็นเพื่อนบ้าน เดือนนึงๆก็มาคุยกันว่าเจอแบบนี้คิดแบบนี้ คล้ายๆได้อ่านไดอารี่ของตั้ม Hesheit เป็นการ์ตูนที่เกินการ์ตูนไปแล้ว มันมีทุกอย่างอยู่ในตัวเองแล้ว ได้แต่ภาวนาว่าอย่าหยุดเขียนเลย

4.ล่าสุดอ่าน ไหม เขียนโดย ALESSANDRO BARICCO งามพรรณ เวชชาชีวะ แปล ก็ชอบความรู้สึกเวิ้งว้าง เขียนน้อยแต่ได้ความเยอะ แล้วมันเหมือนเป็นเรื่องรักที่เขียนโดยคนที่ตกผลึกบางอย่างแล้ว ไม่ใช่เรื่องรักแบบฟูมฟายหรือโรแมนติกน้ำตาไหล จริงๆมันโรแมนติกมากนะ แต่ก็มีความหนักแน่นบางอย่างที่เกิดจากตัวคนเขียน

5.อีกเล่มที่ชอบคือ ขอบฟ้าปิดทอง ของ อุเชนี ชอบมามาตั้งแต่เด็ก จำบทแรกได้ คือ
สวนฉันฉันปลูกแต่มะลิ ยามผลิดอกบานหวานชื่น
เพลินตาพาฝันวันคืน ไม้อื่นไม่ปองต้องชม
เขาสวยรวยกลิ่นไกลใกล้ ยากไร้ยังได้แซมผม
ไร้หนามหยามใจให้ระทม นิยมชมไปไม่ลืม
กวีเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เขาชอบไฮกุ ตรงที่มีระยะห่างระหว่างบรรทัดเยอะๆ ซึ่งน่าจะมีผลต่อการเขียนหนังสือของตนเองในเวลาต่อมา

6.หนังสือท่องเที่ยวชอบชอบของภานุ มณีวัฒนกุล และ ถนนสู่ก้อนเมฆ ของธัญญา ผลอนันต์ เหมือนเป็นหนังสือแบ็คแพคเกอร์เล่มแรกของประเทศ อ่านตอนสมัยเรียนมหา’ลัย ชอบ หนุ่มนักโบกกับสาวขี้บ่น ของพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง คิดว่าพวกนี้มีอิทธิพลต่อตนเองโดยไม่รู้ตัว

Labels: , , , , ,

เรืองยศ จันทรคีรีเขียน "ยุคสมัยของปัญญาชนปัจจุบัน? ยุคร่วมสมัยของอะไร?"


ยุคสมัยของปัญญาชนปัจจุบัน? ยุคร่วมสมัยของอะไร?

โดย เรืองยศ จันทรคีรี
จากคอลัมน์ "คิดเหนือข่าว"
หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 9 ฉบับที่ 2402 ประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 23 ตุลาคม 2008


ในช่วงวัยรุ่นเมื่อเรียนอยู่มหาวิทยาลัย สถานการณ์ช่วงปี 2515-2519 ถือเป็นห้วงเวลาที่หาได้ยากยิ่งอีกห้วงหนึ่งสำหรับประเทศไทย?...บรรดาปัญญาชนในรั้วสถาบันการศึกษาอาจจะอึดอัดกับอะไรหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ความรุ่มร้อนที่เป็นอุณหภูมิอยู่หลายด้านและหลายมิติในสังคมไทย ขึ้นชื่อว่าปัญญาชนคงจะอยู่เฉยไม่ได้แน่นอน มีความพยายามที่จะหาทางออกหรือคำตอบ อาจใช้ประโยคว่าเพื่อบรรลุความฝันและปณิธาน หรืออุดมการณ์ของตนเอง อะไรๆในเทือกแถวทำนองนั้น?
จึงมีนักคิดนักเขียนที่พยายามตั้งคำถามขึ้นมากับสังคม แต่จะเป็นสังคมในแวดวงค่อนข้างจำกัดตัวอยู่ ไม่ได้กว้างขวางอะไรมากมายนัก หากเราหยิบผลงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค จับเอาวัตถุทางปัญญาตรงนี้มาเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวในเวลาขณะนั้นได้สร้างขึ้นมา แม้จะไม่เป็นเหตุผลมากนัก แต่สำหรับโดยส่วนตัวแล้วผมคงเห็นว่า “ชื่อของพ็อกเก็ตบุ๊คซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมในช่วงเวลาขณะนั้นได้บ้างมิมากก็น้อย อันนี้คงเป็นความหมายเดียวกันที่ผมพยายามอธิบายว่าหนุ่มสาวหรือปัญญาชนขณะนั้นๆเขาคิดอะไรกัน?”
ผมยังคงให้เครดิตกับพ็อกเก็ตบุ๊คสองเล่ม ซึ่งเป็นผลงานเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ที่แต่งขึ้นมาโดย “หงา คาราวาน” สุรชัย จันทิมาธร เขียนพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่งชื่อมาจากที่ราบสูง ถัดจากเล่มดังกล่าวเขาก็มีผลงานที่น่าสนใจชื่อว่าไปสู่หนไหน? ผมอธิบายของผมว่า “ไปสู่หนไหน?” ได้เริ่มต้นสำหรับการตั้งคำถามที่สับสนของหนุ่มสาวในยุคนั้น ทั้งอาจเหงา ปัญหาทางสังคมบีบคั้น ถามหาความคาดหวังที่ค่อนข้างจะริบหรี่พอสมควร จากผลงานของหงา ก็มีพ็อกเก็ตบุ๊คอีกหลายเล่มจะต้องกล่าวถึงติดตามมา อันนี้ผมถือว่าเป็นพัฒนาการหรือการสืบเนื่องของสายธารในทางความคิดและความเห็น
ยุคนั้นงานทางปัญญาไม่ได้มีกว้างขวางอย่างปัจจุบัน ไม่ต้องกล่าวถึงอินเทอร์เน็ต กระทั่งคนเขียนหนังสือ หัวหนังสือ สำนักพิมพ์ ค่อนข้างมีจำกัด สามารถนับหัวกันได้ไม่ยาก ผลงานเขียนจึงได้รับความสนใจและถือว่าเป็นการใฝ่หาของปัญญาชนคนหนุ่มสาวนักอ่านทั่วไป ใกล้ๆกับปี 2515 ผมยังจำได้ถึงพ็อกเก็ตบุ๊คของธัญญา ผลอนันต์ เขาเขียนเรื่อง ถนนไปสู่ก้อนเมฆ เราอาจพูดว่า เมื่อเกิดการตั้งคำถาม “ไปสู่หนไหน?” ก็ได้รับการสนองตอบในระดับหนึ่งด้วยวลีที่ว่า “ไปสู่ก้อนเมฆ”
ภายใต้ยุคเผด็จการที่แน่นหนา สุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อสมัยหนุ่มๆยังคงขานรับด้วยผลงานรวมเล่มที่ชื่อว่าความเงียบ...ความหมายที่เป็นความเงียบของสุชาติค่อนข้างอธิบายถึงยุคสมัยนั้นได้ดีไม่น้อย คือบรรยากาศของสิทธิเสรีภาพมันไม่ค่อยมี การแสดงออกเป็นไปอย่างจำกัด ทำนองคล้ายกับว่าผู้คนในสังคมถูกกดดันจนต้องปิดปากและอุดหู กระทั่งกลายเป็นบรรยากาศแห่งความเงียบที่ปกคลุมทั่วไปสำหรับแวดวงทางด้านปัญญาในสังคมไทย...
ผ่านมาต่อจากยุคสมัยความเงียบเล็กน้อย วิทยากร เชียงกูร ได้เขียนผลงานที่ฮือฮา ฉันจึงมาหาความหมาย เราคงต้องยอมรับบทกวีเพียงไม่กี่ท่อนของเขา
“ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”
การตั้งประเด็นของวิทยากรถือว่ามีอิทธิพลที่รุนแรงกับหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย ชีวิตที่ต้องหาความหมายต่อไปดูจะเป็นข้อสรุปที่พูดได้ว่า “หนุ่มสาวกำลังต้องการหาทางออก” ประเด็นของวิทยากรในขณะนั้นผมจึงเห็นว่าค่อนข้างโดดเด่นกว่าผลงานเล่มอื่นๆในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หากแต่มิได้บอกว่าผลงานของคนอื่นไม่สำคัญหรอกนะครับ?
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ธัญญา ชุณชฎาธาร หนึ่งในอดีตผู้นำนักศึกษาก็เขียนชีวิตเขาเป็นโมฆะออกมาเผยแพร่ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ถัดมาเล็กน้อยก็มีผลงานที่โดดเด่นของวิสา คัญทัพ ชื่อเราจะฝ่าข้ามไป แล้วติดตามด้วยก่อนไปสู่ภูเขาของสถาพร ศรีสัจจัง...จนกระทั่งใกล้กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คงมีผลงานชื่อเดินไปในราวป่า โดย รอ.จันทรคีรี...วางแผงหนังสืออยู่ไม่กี่วันเกิดรายการมิคสัญญีตุลาเลือด แล้วนามปากกาดังกล่าวก็มลายหายเลือนมาจนปัจจุบันนี้?
ผมเขียนเรื่องนี้ให้อ่านสบายๆ ไม่ได้สื่อสารอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่ตั้งประเด็นว่าหากเราจะมีผลงานที่คล้ายๆกับบรรดานักคิดนักเขียนเมื่อยุคสมัยก่อนๆได้นำเสนอออกมา สมมุติมีงานเขียนในลักษณะนั้นมันควรจะตั้งชื่อว่าอย่างไรดีเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ถ้าถามผมก็ขอบอกว่า “ฉันหน่ายการตอแหล” ความหมายยุคสมัยนี้มันเป็นอย่างนี้จริงๆนะครับ ผมขอยืนยันเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง?...
มันเป็นยุคสับสนอลหม่าน แม้กระทั่งปัญญาชนที่เขียนหนังสือออกมาตามที่เอ่ยถึงข้างต้น ยังพลอยสับสนจนอยากสร้างการเมืองใหม่?

Labels: , ,