Wednesday 3 December 2008

บันทึกจากอดีตของ สมชาย เชื้อไทย

ป้าทัศน์ พี่สมบัติ คุณยายและนายปรีดี

พ ฤ ษ ภ า ค ม ๒ ๕ ๔ ๑ : Bad Godesberg

ป้าทัศน์คนดีเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในเยอรมันคนสุดท้าย ก่อนบ้านก.พ.ที่พักพิงของ นักเรียนไทยทุกยุคทุกสมัยจะถูกปิดไป

เมื่อมาถึงเยอรมันใหม่ๆ ผมคงคล้ายกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่มัวงมอยู่กับการเรียนภาษา เรียนรู้ชีวิตแปลกใหม่ในโลกกว้าง ท่องบ่นงึมงำกับตัวเอง เอาตัวให้รอด เอาตัวให้รอด ได้ยินข่าวกิจกรรมนักเรียนอยู่บ้างแล้วก็ได้เข้าร่วมแบบประปราย แต่เท่าที่เห็นคนอื่นๆ ก็มาประปรายเหมือนกัน ไม่น่าตื่นเต้น ครั้งแรกที่เห็นผู้คนไปชุมนุมร่วมกันเยอะที่สุด คงเป็นงานเลี้ยงส่งป้าทัศน์ผู้ป็นขวัญและกำลังใจของนักเรียนทุกคน งานเลี้ยงอาลัยปิด บ้านก.พ. ครั้งนั้นนักเรียนไทยมากันเกือบร้อย ทุกคนตั้งใจมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง เรามีอภิปรายหนักๆเรื่องวิกฤติประเทศชาติ แม้ในการโต้วาทีสนุกๆ ผมยังจำได้ว่ามีน้อง ผู้หญิงคนหนึ่งจากสตุทการ์ท เธอยังเด็ก แต่พูดอะไรไว้น่าฟังมาก

หลังจากหนูดูรายการซีเอ็นเอ็น เห็นข่าวเมืองไทยล่มสลาย น้ำตามันไหลออกมาอย่างห้าม ไม่ได้ ได้แต่บอกตัวเอง รีบเรียนให้จบ อย่าผลาญภาษีประชาชน ต้องกลับไปกอบบ้านกู้เมือง
วันนั้นตอนเย็นพวกเราทั้งหมดได้ถ่ายภาพหมู่ไว้ร่วมกันด้วย ภาพนี้มีความหมายสำหรับผม มากครับ ว่างๆ ผมมักจะหยิบมาดูเสมอ คนนั้นยังไม่รู้จัก คนนี้เป็นใคร เรียนอะไร อยู่เมืองไหน พอรู้จักใครเพิ่ม ก็เอาภาพนี้มาดูอีก อ๋อคนนี้นี่เอง มีบางคนถึงวันนี้เรียนจบ กลับไปแล้ว

ทีแรกผมนึกว่ามีแต่ผมที่ชอบดูภาพนี้อยู่คนเดียว แต่เมื่อไปเยี่ยมเพื่อนแถบรัวห์เกบีท สองคน เห็นเค้าเอาภาพนี้ติดไว้ที่ฝาห้องเหมือนกัน หนึ่งในสองเอาภาพใส่ไว้ในเครื่อง คอมพิวเตอร์ด้วย เปิดคอมพ์ปุ๊บ เห็นหน้าเพื่อนๆทันที บ้านรุ่นน้องที่ฮันโนเวอร์ก็ติดภาพนี้ ไว้ข้างฝาแบบเดียวกัน ผมเลยสรุปเอาว่า ลึกๆแล้วพวกเราคงอยากทำอะไรร่วมกัน ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอย่าง นั้นอีก แม้เพื่อนคนหนึ่งจะบอกว่า งานนั้นมัน einmalig โว้ย ไม่มีอีกแล้ว เพื่อนผมบอกว่า กิจกรรมนักเรียน ส.น.ท.ย. ยุคหลังๆนี้ ใครได้เป็นนายกก็นั่งท่องไปเถิด ปีหนึ่งออกหนังสือ ๔ เล่ม มีกิจกรรม ๔ อย่าง วางพวงมาลาวันปิยะ วันเฉลิมเอาฟ้อนรำไปโชว์ขาย Tombola หาเงินเข้าสมาคม จัดคุยวิชาการ ๑ ครั้ง งานชุมนุมฤดูร้อน ๑ ครั้ง บางปีอาจจะแถมงาน เตะฟุตบอลกับนักเรียนทหารอีกครั้ง เป็นอันจบ แต่ละปีใครเข้ามาเป็นกรรมการนักเรียน ก็ท่องสูตรสำเร็จนี้ไป กรรมการมีหน้าที่เกณฑ์คนเข้าร่วมงาน ส.น.ท.ย แปลว่า สำ-นักงาน-ทน-อยู่ ทนๆ ทำไปให้หมดวาระ


พ ฤ ษ ภ า ค ม ๒ ๕ ๔ ๒ : Duesseldorf

ผมพบพี่สมบัติโดยบังเอิญที่ดุสเซลดอร์ฟ คราวที่พี่สมบัติมาเป็นผู้ประสานงานให้กลุ่ม Activist แรงงานไทยมาดูงานทางนี้ นอกเหนือจากการไต่ถามทุกข์สุขของบ้านเมืองใน สถานการณ์ปัจจุบัน ผมยังได้ฟังคำขับขานเรื่องราวของส.น.ท.ย. ในวันวานด้วย
ช่วงพี่อยู่มันแรงมากน้องเอ๋ย

ผมเองนึกภาพไม่ออกหรอกครับว่าสมัยที่พี่แกอยู่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนมันจะแรงสักกี่ดีกรีกัน
วันนึงนัดพบกันที่แฟรงเฟิร์ต มันเอาขวดเบียร์ทุบให้แตกเป็นปากฉลาม แล้วเข้ามาคว้าคอ ผม ถามว่า มึงคอมมิวนิสต์ใช่ไหม กูจะเอามึงให้ตาย
พี่สมบัติเล่าถึงกิจกรรมนักเรียนไทยในยุคที่มีการประจันหน้าขวาซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผม เพิ่งได้รู้ว่า สมาชิกพคท.ก็มีสาขาอยู่ทางนี้ด้วย

ผมเป็นซ้าย ตอนนี้ผมก็ยอมรับว่ายังเป็นซ้ายอยู่ อุดมการณ์ที่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมจะ ไม่ดีได้อย่างไร การช่วยคนยากจนคนถูกเอารัดเอาเปรียบผิดตรงไหน ยุคนั้นมันเป็นยุค แสวงหา ยุคต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ไม่ใช่ทำเพื่อคุยว่ามีอุดมการณ์ เป็นยุคเบ่งบานอะไรนะ แต่ทำ เพราะพวกเราไม่มีเสรีภาพจริงๆ เราไม่ได้เรียกร้อง เสรีภาพเพื่อจะเป็นฮีโร่ทางการเมือง แต่ทำเพื่อขอเสรีภาพให้กับประชาชนบ้าง รัฐบาลธานินทร์ สัญญาว่าจะให้ประชาธิปไตยแน่ๆ แต่ต้องมีขั้นมีตอน ให้รอสิบสองปี ฟังแล้วไม่เห็นความหวังเลย คนรุ่นพวกคุณอาจฟังไม่ค่อย เข้าใจก็ได้ ยุคของพวกคุณอายุครบ ๑๘ เลือกตั้งได้ ทำอะไรได้ทั้งนั้น พูดจาอะไรไม่มีใคร มากีดกั้น สมัยผม เราโดนครอบจนมืดมิด ข่าววิทยุมีแต่กรมประชาสัมพันธ์กับวิทยุทหาร หนังสือพิมพ์ถูกเซนเซอร์ ใครออกหน้าออกตาคัดค้านรัฐบาลเผด็จการ โดนมาตรา ๑๗ สั่งยิงเป้าหมด ผมเองตอนอายุครบยี่สิบดีใจจะแย่ จะได้เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต พอใกล้ถึงวันรัฐบาลถนอมกลับปฏิวัติตัวเองเสียฉิบ ชวดไป อีกสองปีจะได้เลือกกันใหม่ มันก็ปฏิวัติกันอีก ชวดอีกเช่นเคย เลยได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่เยอรมัน เลือกตั้งผู้แทน นักศึกษา AsTASSของมหาวิทยาลัย เก๋มั๊ย

ทำอะไรกันมั่งครับนักศึกษาสมัยนั้น ผมถามด้วยความอยากรู้
สารพัด พี่สมบัติว่าไปพร้อมกับพลิกจุลสารเพื่อนไทยของพวกเราเล่มที่ผมติดมือไปด้วย ในวันนั้น
นี่อะไร พี่แกถามเมื่อดูตารางกิจกรรมส.น.ท.ย.ประจำปี ๒๕๔๒
อะไรวะ ออกหนังสือเป็นกิจกรรมแล้วหรือวะ กิจกรรมมันต้องพบปะ พูดจากัน

สมัยผมเจอกันกินนอนด้วยกันตลอด บ้านผมมากันทียี่สิบ สามสิบ มีอยู่วันเพื่อนตื่นมาบ่นอุบ ว่า เมื่อคืนเหมือนนอนอยู่กลางทะเล ก็มันเล่นไปนอนในครัวข้างถังขยะมีปลาเน่าในถังก็ไม่ เอาไปทิ้งกัน ในบ้านว่าไปแล้วหนาวฉิบหาย Heizung เปิดไม่ได้ ไม่มีตังค์จ่ายค่าไฟ แต่สนุก ได้เจอกัน คุยกัน ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คิดทำอะไรดีๆ ร่วมกัน กาแฟ หมดเป็นโอ่งๆ เรามีอภิปราย รณรงค์การเมือง ทำกิจกรรมทุกรูปแบบ แข่งฟุตบอล

จัดงานรวมน้ำใจช่วยน้ำท่วมก็มีเพราะตอนนั้นมีน้ำท่วมใหญ่ทางภาคใต้ของไทย กิจกรรมที่ทำในกลุ่มนักเรียนไทยไม่ใช่มีแค่ในเยอรมัน ทางฮอลแลนด์มีธีรยุทธ บุญมี วิทยากร เชียงกูล สุภาพ พัสอ๋อง สมภพ มานะรังสรรค์ ทางฝรั่งเศสมี ไอ้แว่น เสาวนีย์ ลิมมานนท์ วิษณุ วรัญญู สวีเดนก็มีเยอะ ที่นั่นลี้ภัยง่าย พวกหนีวันมหาวิปโยคจากเมืองไทย มาทั้งนั้น

เราร่วมกับนักเรียนในอังกฤษทำหนังสือไทยยุโรป ทางอังกฤษมีธัญญา ผลอนันต์ ศิษย์เอก อาจารย์ป๋วยเป็นหัวเรือใหญ่ พวกเราได้ไปพูดที่สามัคคีสมาคมของเขาด้วย อาจาย์สุลักษณ์ ก็ช่วยสนับสนุนอยู่กับฝรั่ง เรามีกลุ่ม Thai-Deutsch Dialog แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนเยอรมันประจำ มาอยู่บ้านเมืองเค้าต้องรู้จักเค้าจริง ต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าเค้าสร้างชาติอย่างไร ถ้ามัวแต่ปิด ตัวเองก็อยู่เมืองไทยซะดีกว่า มาทำไมให้เสียค่าเครื่องบิน

สมาคมไทยพุทธพวกเราก็มีบทบาทช่วยก่อตั้ง เรื่องนี้ Idea ของธีรยุทธ เค้าบอกถ้าจะ ทำงานการเมือง ต้องหาคนสนับสนุน แล้วจะมีที่ไหนที่คนไทยจะรวมกันได้ดีเป็นพลัง ถ้าไม่ใช่ที่วัดเรื่องของศาสนา
กลุ่มช่วยเหลือผู้หญิงเราก็ทำ ผมได้ไปออกทีวีเยอรมันช่อง ZDF รายการ 3 nach 9 ออกวิทยุ พูดเรื่องผู้หญิงนี้แหละ ปัญหาของเราก็ต้องชี้แจงให้เค้าเข้าใจด้วย แล้วคนของเค้า ก็มีส่วนผิดเหมือนกัน จริงๆ ปัญหาผู้หญิงนี้น่าจับนะ เป็นตัวอย่างปัญหาของสังคมไทยที่มา ปรากฏทางนี้ ฝึกไปช่วยเค้า ก่อนที่จะไปช่วยแก้ปัญหา อีกร้อยพันเก้าที่เมืองไทยเมื่อเรียน จบกลับไป

การทำกิจกรรมมันก็ดี ได้เพื่อน ได้ฝึกตน ได้รู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหา ได้ช่วยเหลือคน เรียนวิชากันคนละอย่างก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นเพื่อนต้องมีอุปสรรคเลย
ผมเรียนวิศวะ ก็ได้เพื่อนซี้ปึ้กเป็นนักเรียนกฎหมาย พวกเราที่ทำกิจกรรมด้วยกันที่นี่ เรียนจบกันไปได้ทั้งนั้นไม่มีปัญหา ตอนนี้ไปเป็นใหญ่เป็นโตเยอะ เป็นนักวิชาการดังๆ ก็หลายคน ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะทำกิจกรรมอย่างนี้อีก พวกเราทำกิจกรรมกันด้วย จิตวิญญาณ
ตอนเลือกตั้งนายกส.น.ท.ย.สนุก หาเสียงกันมัน ล้อบบี้กันแหลก อุดมการณ์มันไม่ตรงกันนี่ หว่า ผมโชคดีได้เพื่อนหลายคนช่วยหาเสียงให้ ทางเหนือช่วยกันมาก ไอ้สมกวาดเสียงมา ให้เยอะ ทางใต้บอกไอ้บุญช่วยหาเสียงให้หน่อย ถึงวันเลือกตั้งมันโผล่มาคนเดียว บอกว่า เบ็ดเสร็จทางใต้ได้มาหนึ่งเสียง ก็ตัวมันเองนั่นแหละ ขำจะตาย
ผมได้เป็นนายกตอนปีสองห้าหลังจากมาอยู่เยอรมันเกือบสิบปี สถานทูตกับผู้ดูแลก.พ. สมัยนั้น ไม่ชอบเด็กหัวแข็งแบบพวกเราหรอก เราโดน block ตลอด
สมัยคุณอานันท์อยู่ที่นี่ ไปคุยกับผมถึงฮัมบวร์ก ขอให้เบาๆกิจกรรมหน่อย ทั้งที่จริงๆ ตัวแกเอง ก็มีปัญหากับรัฐบาลเผด็จการเยอะ
ที่พวกเรายังจำไม่รู้ลืม ภาคภูมิใจที่สุดคือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับท่านปรีดี สมัยนั้นท่าน มาลี้ภัยอยู่ที่ปารีส การเดินทางจากที่นั่นมาเยอรมันไม่สะดวกสบายเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ท่านก็ให้เกียรติมาหาพวกเราหลายครั้ง
งานครบรอบห้าสิบปีประชาธิปไตย งานเชื่อมสัมพันธ์วันสงกรานต์ ท่านเล่าเรื่อง ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอย่างน่าฟัง ความรู้ท่านกว้างขวาง ความจำเป็นเลิศ ความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจน ท่านติดดินมาก มาปาฐกถาพูดคุยเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้พวกเราฟังเหมือนพวกเราเป็นลูกหลาน สั่งสอนให้รู้จักทำอะไรเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน
พ ฤ ษ ภ า ค ม ๒ ๕ ๔ ๓ : ?

ผมยังไม่รู้หรอกครับว่าพฤษภาปีหน้า ผมจะอยู่ตรงไหน จะพบเห็นเหตุการณ์อะไรหรือได้เจอ ใครๆ อีก รู้แต่ว่าถ้าปีหน้าท่านปรีดีของพี่สมบัติยังอยู่ ท่านจะอายุครบร้อยปี
ผมค่อยๆเปิดหนังสือชื่อชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ อ่านอย่างช้าๆทุกวรรค ทุกตอน ในบทที่ว่าด้วย กิจกรรมพิเศษระหว่างศึกษาในฝรั่งเศส เมื่อปี๒๔๖๖-๖๗
ท่านปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ และนักเรียนไทยในประเทศ อื่นๆ จัดตั้งสมาคมอันหนึ่งอันเดียวกันชื่อว่า สามัคคยานุเคราะห์สมาคม
ท่านปรีดีได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการสมาคมคนแรก สองปีถัดมาเป็นสภานายกสมาคม ท่านปรีดีรณรงค์ให้มีการจัดการปาฐกถาทางการเมืองมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นกระแส ร่วมกันที่จะสร้างระบบการเมือง แบบประชาธิปไตย
นอกจากนี้มีการอภิปรายวิจารณ์การทำงานของเอกอัครราชทูตยุคนั้น เกี่ยวกับเรื่องเงินค่าใช้ จ่ายนักเรียนที่ได้ไม่เพียงพอ มีการเรียกร้องขอเงินเพิ่มจากการเคลื่อนไหวครั้งนั้น
ท่านปรีดีถูกกล่าวหาว่าทำตัวประดุจหัวหน้าสหภาพแรงงาน เจ้าหน้าที่สถานทูต เห็นว่าทำตัว เป็นปฏิปักษ์ ถึงขนาดทำรายงานถวายพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ
เนื่องจากนโยบายหลวงยุคนั้น ไม่ให้นักศึกษามีเสรีภาพในการจัดกิจกรรมทางสังคม หากจะเคลื่อนไหวกัน ก็ต้องไปจัดตั้งเป็นสมาคมใหม่ แต่ยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ สถานทูตอย่างเคร่งครัด
นักศึกษารุ่นเด็กจะต้องไม่เป็นสมาชิกสมบูรณ์ ไม่มีสิทธิออกเสียง อาจทำได้เพียงเข้าร่วม ในค่ายวันหยุดภายใต้การดูแลเป็นพิเศษ พวกนี้จะต้องอยู่ห่างจากนักศึกษารุ่นใหญ่ให้มาก ที่สุดในขณะที่เข้าร่วมกิจกรรมการกีฬาและการบันเทิง
ในบทที่ว่าด้วยประชุมครั้งแรกก่อตั้งคณะราษฎร เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๐ มีผู้เข้าร่วม ๗ คน ร.ท.ประยูร ทหารกองหนุน ร.ต.ทัศนัย ร.ท.แปลก(จอมพลป.) นักเรียนทหารในฝรั่งเศส นายตั้ว นักศึกษาในเยอรมันนี หลวงสิริราชไมตรี ผู้ช่วยสถานทูต นายแนบ เนติบัณฑิต อังกฤษ และท่านปรีดี ในการเคลื่อนไหวทำการใหญ่เพื่อชาติครั้งนั้น ท่านปรีดีมีอายุเพียง ๒๗ ปี
ที่ปกหลังของหนังสือเล่มนี้ท่านปรีดีได้เขียนเป็นหมายเหตุว่า
เขียนขึ้นตามที่นายกสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมัน (นายสมบัติ) ฯ ได้ขอมาเพื่อจะนำไป เสนอในที่ประชุมนักเรียนให้ได้ทราบ
หนังสือเล่มดังกล่าวคุณยายกรุณามอบให้ผม ในคราวที่พวกเราเดินทางไปกราบท่านที่ถนน Bourg la Reign ชานกรุงปารีสเมื่อวันหยุดฟิงสเทนที่ผ่านมาครับ
คุณยายเล่าว่านายปรีดีมีความผูกพันกับการศึกษาทางยุโรป และการจัดกิจกรรมนักศึกษา ตั้งแต่สมัยมาเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศส ส่วนตัวของนายปรีดีเอง ได้อะไรมากจากการมาเป็น นักเรียนอยู่ทางนี้
ได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยสามารถสร้างรากฐานชีวิตให้ผู้คนได้ อำนาจจักต้องเป็นของ ประชาชนอย่างแท้จริง การมาเรียนทางนี้ ทำให้นายปรีดีได้เห็นสิ่งใหม่ นำสิ่งดีไปแก้ไข สังคมไทย
คุณยายพูนศุขกลับมาที่นี่สามปีครั้ง ทุกเช้าจะเดินจากห้องพักของหลาน ไปยังบ้านหลังเก่า ที่ขายให้คนเวียดนามไปแล้ว มีความสุขแม้เพียงได้ยืนมองลอดรั้วเข้าไป รำลึกถึงวันเวลา เก่าๆ ที่สนามเคยใช้จัดพูดคุยกับพวกนักเรียนบ่อยๆ

นักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสได้คุ้นเคยกันทุกยุคทุกสมัย นักเรียนไทยในเยอรมันก็รู้จักเยอะ คุณยายยังไล่ชื่อนักเรียนรุ่นเก่าๆ ให้เราฟังหลายคน คุณน้าวาณี ลูกสาวคนเล็กของท่านปรีดี เล่าต่อว่า
คุณพ่อผูกพันกับนักเรียนที่เยอรมันมาก มีความสุขมากที่ได้ร่วมกิจกรรมด้วย เมื่อได้รับเชิญ ให้ไปร่วมกิจกรรมกับนักเรียนไทยที่เยอรมัน เราก็จะขับรถข้ามประเทศกันไป นักเรียน เยอรมันยุคนั้นหัวก้าวหน้า รวมตัวกันเหนียวแน่น เป็นกำลังสำคัญของนักเรียนในยุโรป

ผมกลับมานั่งนึกถึงคำของคุณยาย นึกถึงหนังสือเล่มนั้น นึกถึงพี่สมบัติ ป้าทัศน์ นึกถึง พวกเราทุกคน และสุดท้ายนึกถึงสังคมไทย

ท่านปรีดีอายุเท่าๆ พวกเราเมื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ ท่านปรีดีเป็น ลูกหลานชาวบ้านนอกเหมือนเรา แต่ได้ทำกิจกรรมสำคัญเพื่อชาติ ปัญหาบ้านเมืองในยุค ของท่านหนักหนาสาหัสพอๆ กับยุคสมัยของเรา

ผมเลยยังหาข้อแก้ตัวไม่ได้ว่า ทำไมพวกเราถึงได้เฉยชากันนัก เทียบกับรุ่นพี่ยุคก่อนๆ ไม่ได้เลย
หรือจะเป็นเพราะวันเวลาเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความเคลื่อนไหวของผู้คนเปลี่ยนแปลง ไปด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ช้าลง ช้าลง จนนิ่งเงียบไม่ไหวติง ไม่รู้ร้อนรู้หนาว กับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
วันเวลาของท่านปรีดีกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีไทย และวันเวลาของพี่สมบัติ กับกระแสแห่งการความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว ตรงหน้านี้มีวันใหม่ของพวกเรามาอยู่แทนที่ การที่ความสงบเงียบ(จนเหงา)เข้ามาเยือน ในที่ซึ่งครั้งหนึ่งมีกิจกรรมผ่านไปมาคลาคล้ำ จะหมายความว่าท้องทะเลแห่งนี้ไร้สิ้นพลังหรือไม่ ผมกับเพื่อนๆ คงต้องร่วมกันรับผิดชอบที่จะค้นคิดหาคำตอบครับ

จาก: http://vereine.freepage.de/cgi-bin/feets/freepage_ext/41030x030A/rewrite/tsvd/calendar/pridi/tat05_02.html

Labels: , , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home