สิงคโปร์ กันยายน 2551
“หอสมุดคือบ้านที่สองของฉัน”
บรรณารักษ์คนใดได้ยินประโยคข้างต้น คงตื้นตันด้วยความปิติ
และหากรู้ต่อไปอีกว่าผู้กล่าวประโยคนี้เป็น Art Director ของนิตยสารชื่อดังในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Far Eastern Economic Review และนักวาดภาพล้อการเมืองที่มีชื่อเสียงในภูมิภาค Morgan Chua ก็อาจจะขนลุกซู่ด้วยความภูมิใจ
มอร์แกนเป็นชาวสิงคโปร์ รู้จักกับผมมาตั้งแต่ยุค ’70 เขาเริ่มงานเป็นผู้ออกแบบนิตยสารและวาดภาพประกอบ Far Eastern Economic Review ในฮ่องกงเมื่อปี 2515 ผมเริ่มเป็นนักข่าวเศรษฐกิจให้กับ Financial Post หนังสือรายสัปดาห์แทรกใน Bangkok Post เมื่อปี 2513 เราจึงอยู่ในวงการวิชาชีพเดียวกัน และมีโอกาสพบกันทั้งในฮ่องกง สิงคโปร์ เกาะตันจงปินัง (อินโดนีเซีย) และกรุงเทพ ฯ หลายครั้ง
ผมพบมอร์แกนครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน 2551 เมื่อผมเดินทางไปเป็น Guest Speaker ให้กับ Buzan License Instructor Continuing Professional Development 2008 ในหัวข้อ “Common Mind Mapping Mistakes” เรานัดพบกันที่ “หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์” หรือ National Library และครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราพบกันที่นี่ เราใช้หอสมุดเป็นที่นัดพบมาตั้งแต่ยังตั้งอยู่ที่เดิมใกล้ ๆ ร้านหนังสือ MPH (ซึ่งปัจจุบันก็เปลี่ยนไปแล้ว) เขามอบหนังสือ My Singapore ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ซึ่งเพิ่งวางตลาดเมื่อต้นปีนี้ หน้าแรก ๆ ของสมุดภาพวาดเชิงประวัติศาสตร์นี้เขาบอกว่า “ห้องสมุดคือบ้านที่สองของฉัน”
ในยุคของโก๊ะ จ๊ก ตง คณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (National Library Board: NLB) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 ย้ายที่และเปิดใหม่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปี 2549 ในตึกทันสมัย 16 ชั้นเก็บหนังสือเอกสารสำคัญเรื่องชาติสิงคโปร์และการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหนังสือ ดีวีดี และสื่อเพื่อให้ค้นคว้าประมาณ 7.8 ล้านรายการ ในจำนวนนี้เป็นเอกสารอ้างอิงอื่นกว่า 640,000
ข้อมูลที่น่าประทับใจ ( ณ สิ้นปีงบประมาณ 2549) หอสมุดแห่งชาติมีหนังสือภาษาอังกฤษ 5,044,595 เล่ม, ภาษาจีน 1,917,105 ภาษามาเลย์ 601,778 ภาษาทมิฬ 285,405 รายการ และเนื่องจากเป้าหมายใหม่คือให้ดึงดูดวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ให้รักการอ่าน จึงมีหนังสือสำหรับเยาวชน 552,734 รายการและเด็กถึง 3,139,256 รายการ
สถิติจำนวนสมาชิกและการใช้งานก็น่าทึ่งเช่นเดียวกัน เมื่อปี 2538 โก๊ะ จ๊ก ตง เคยระบุว่า “ร้อยละสิบสองของประชากรเท่านั้นที่ใช้บริการห้องสมุดอย่างสม่ำเสมอ” แต่เมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ 2549 การยืมทั้งหมด 28,834,619 รายการ มีสมาชิก 1,940,444 ราย (ประชากรสิงคโปร์ 4.4 ล้านคน) มีการเข้าใช้ห้องสมุดทั้งหมด 37,385,764 ครั้ง และมีการเยี่ยม website: http://www.nlb.gov.sg/ 37,901,993 ครั้ง และ electronic logons 7,349,732 ครั้ง
ตามผนังห้องด้านที่พอมีที่ว่างก็จะเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนแสดงผลงาน หรือให้ข้อเสนอแนะ ห้องสมุดที่มีสีสัน คนทุกเผ่าพันธุ์ให้ความร่วมมือ หอสมุดแห่งชาติหลังใหม่ของสิงคโปร์มีข้อแตกต่างกับห้องสมุดทั่ว ๆ ไปอีกประการหนึ่ง คือเลขหมู่หนังสือที่เขียนไว้ตรงสันหนังสือที่เคยเป็นแต่ตัวเลขและตัวอักษร จึงทำให้อ่านยาก หาลำบากและนำคืนสู่ตำแหน่งเดิมได้ไม่สะดวก แถมเมื่อวางผิดก็ไม่ค่อยจะรู้ ปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาใช้รหัสสีมาช่วย
นอกจากเลขหมู่หนังสือที่เป็นตัวเลขแล้ว บรรณารักษ์ได้ทำแถบสีตามตัวเลขเรียงจากบนลงล่าง เช่น เลข 0 = แดง เลข 1 =เขียว เลข 2 = น้ำเงิน เป็นต้น จึงทำให้เห็นง่าย หาสะดวก เก็บคืนที่ได้อย่างรวดเร็ว และหากวางผิดก็เห็นแต่ไกล
0 =
1 =
2 =
3 =
4 =
5 =
6 =
7 =
8 =
9 =
วารสาร bilioasia ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของ NLB ฉบับกรกฎาคม 2551 ลงรายงานข่าวที่น่าสนใจว่า หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์เพิ่งได้รับบริจาค กระจกเนกาตีฟจำนวน 80 แผ่นจากครอบครัวของนาย Percy R Hill ซึ่งภาพชีวิตชาวบ้านในสิงคโปร์และมาลายาในช่วงปี พ.ศ. 2449-2462 นายฮิลเป็นชาวอังกฤษที่เดินทางมาทำงานเป็นนักบัญชีในกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์ราว ๆ ปลายรัชสมัย ร. 5 ของไทย จากสิงคโปร์นายฮิลก็อพยพไปอยู่ออสเตรเลียและเสียชีวิตเมื่อปี 2493 ต่อมาลูกสาวของเขาต้องการจะบริจาคแผ่นเนกาตีฟให้กับสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2550 แต่เธอเสียชีวิตเสียก่อน หลานสาวของนายฮิลจึงทำตามความประสงค์ของแม่ มอบผลงานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้กับ NLB เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551
เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างอันดีว่า หากมีระบบที่ผู้คนเชื่อถือ ก็จะได้รับความร่วมมือจากคนไม่ว่าชาติใดภาษาใด
ถ้าผู้อ่านมีโอกาสไปสิงคโปร์ อย่าลืมแวะเดินชมสัก 15-30 นาทีก็เกิดประโยชน์แล้วครับ นอกจากได้เห็นการใช้รหัสสีอย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังเห็นบรรยากาศ “Thinking Schools, Learning Nation” ของจริงนั้นเป็นอย่างไร
อย่ารอให้ใครมาสร้างหอสมุดแบบนี้ในประเทศเราเลยครับ คุณเองก็สร้างได้ในบ้านและบริษัทของตัวเอง คุณมีห้องสมุดในบ้านหรือในสถานประการของคุณเองหรือยัง ถ้ายังคุณก็มีโอกาสเป็นผู้บุกเบิกสร้าง “สีสันให้กับมันสมองของบ้านหรือที่ทำงาน” ของคุณแล้วครับ
Labels: Morgan Chua, NLB, ธัญญา ผลอนันต์, บรรณารักษ์, สิงคโปร์, ห้องสมุด
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home