ยุคสมัยของปัญญาชนปัจจุบัน? ยุคร่วมสมัยของอะไร?
โดย เรืองยศ จันทรคีรี
จากคอลัมน์ "คิดเหนือข่าว"
หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 9 ฉบับที่ 2402 ประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 23 ตุลาคม 2008
ในช่วงวัยรุ่นเมื่อเรียนอยู่มหาวิทยาลัย สถานการณ์ช่วงปี 2515-2519 ถือเป็นห้วงเวลาที่หาได้ยากยิ่งอีกห้วงหนึ่งสำหรับประเทศไทย?...บรรดาปัญญาชนในรั้วสถาบันการศึกษาอาจจะอึดอัดกับอะไรหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ความรุ่มร้อนที่เป็นอุณหภูมิอยู่หลายด้านและหลายมิติในสังคมไทย ขึ้นชื่อว่าปัญญาชนคงจะอยู่เฉยไม่ได้แน่นอน มีความพยายามที่จะหาทางออกหรือคำตอบ อาจใช้ประโยคว่าเพื่อบรรลุความฝันและปณิธาน หรืออุดมการณ์ของตนเอง อะไรๆในเทือกแถวทำนองนั้น?
จึงมีนักคิดนักเขียนที่พยายามตั้งคำถามขึ้นมากับสังคม แต่จะเป็นสังคมในแวดวงค่อนข้างจำกัดตัวอยู่ ไม่ได้กว้างขวางอะไรมากมายนัก หากเราหยิบผลงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค จับเอาวัตถุทางปัญญาตรงนี้มาเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวในเวลาขณะนั้นได้สร้างขึ้นมา แม้จะไม่เป็นเหตุผลมากนัก แต่สำหรับโดยส่วนตัวแล้วผมคงเห็นว่า “ชื่อของพ็อกเก็ตบุ๊คซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมในช่วงเวลาขณะนั้นได้บ้างมิมากก็น้อย อันนี้คงเป็นความหมายเดียวกันที่ผมพยายามอธิบายว่าหนุ่มสาวหรือปัญญาชนขณะนั้นๆเขาคิดอะไรกัน?”
ผมยังคงให้เครดิตกับพ็อกเก็ตบุ๊คสองเล่ม ซึ่งเป็นผลงานเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ที่แต่งขึ้นมาโดย “หงา คาราวาน” สุรชัย จันทิมาธร เขียนพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่งชื่อมาจากที่ราบสูง ถัดจากเล่มดังกล่าวเขาก็มีผลงานที่น่าสนใจชื่อว่าไปสู่หนไหน? ผมอธิบายของผมว่า “ไปสู่หนไหน?” ได้เริ่มต้นสำหรับการตั้งคำถามที่สับสนของหนุ่มสาวในยุคนั้น ทั้งอาจเหงา ปัญหาทางสังคมบีบคั้น ถามหาความคาดหวังที่ค่อนข้างจะริบหรี่พอสมควร จากผลงานของหงา ก็มีพ็อกเก็ตบุ๊คอีกหลายเล่มจะต้องกล่าวถึงติดตามมา อันนี้ผมถือว่าเป็นพัฒนาการหรือการสืบเนื่องของสายธารในทางความคิดและความเห็น
ยุคนั้นงานทางปัญญาไม่ได้มีกว้างขวางอย่างปัจจุบัน ไม่ต้องกล่าวถึงอินเทอร์เน็ต กระทั่งคนเขียนหนังสือ หัวหนังสือ สำนักพิมพ์ ค่อนข้างมีจำกัด สามารถนับหัวกันได้ไม่ยาก ผลงานเขียนจึงได้รับความสนใจและถือว่าเป็นการใฝ่หาของปัญญาชนคนหนุ่มสาวนักอ่านทั่วไป ใกล้ๆกับปี 2515 ผมยังจำได้ถึงพ็อกเก็ตบุ๊คของธัญญา ผลอนันต์ เขาเขียนเรื่อง ถนนไปสู่ก้อนเมฆ เราอาจพูดว่า เมื่อเกิดการตั้งคำถาม “ไปสู่หนไหน?” ก็ได้รับการสนองตอบในระดับหนึ่งด้วยวลีที่ว่า “ไปสู่ก้อนเมฆ”
ภายใต้ยุคเผด็จการที่แน่นหนา สุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อสมัยหนุ่มๆยังคงขานรับด้วยผลงานรวมเล่มที่ชื่อว่าความเงียบ...ความหมายที่เป็นความเงียบของสุชาติค่อนข้างอธิบายถึงยุคสมัยนั้นได้ดีไม่น้อย คือบรรยากาศของสิทธิเสรีภาพมันไม่ค่อยมี การแสดงออกเป็นไปอย่างจำกัด ทำนองคล้ายกับว่าผู้คนในสังคมถูกกดดันจนต้องปิดปากและอุดหู กระทั่งกลายเป็นบรรยากาศแห่งความเงียบที่ปกคลุมทั่วไปสำหรับแวดวงทางด้านปัญญาในสังคมไทย...
ผ่านมาต่อจากยุคสมัยความเงียบเล็กน้อย วิทยากร เชียงกูร ได้เขียนผลงานที่ฮือฮา ฉันจึงมาหาความหมาย เราคงต้องยอมรับบทกวีเพียงไม่กี่ท่อนของเขา
“ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”
การตั้งประเด็นของวิทยากรถือว่ามีอิทธิพลที่รุนแรงกับหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย ชีวิตที่ต้องหาความหมายต่อไปดูจะเป็นข้อสรุปที่พูดได้ว่า “หนุ่มสาวกำลังต้องการหาทางออก” ประเด็นของวิทยากรในขณะนั้นผมจึงเห็นว่าค่อนข้างโดดเด่นกว่าผลงานเล่มอื่นๆในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หากแต่มิได้บอกว่าผลงานของคนอื่นไม่สำคัญหรอกนะครับ?
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ธัญญา ชุณชฎาธาร หนึ่งในอดีตผู้นำนักศึกษาก็เขียนชีวิตเขาเป็นโมฆะออกมาเผยแพร่ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ถัดมาเล็กน้อยก็มีผลงานที่โดดเด่นของวิสา คัญทัพ ชื่อเราจะฝ่าข้ามไป แล้วติดตามด้วยก่อนไปสู่ภูเขาของสถาพร ศรีสัจจัง...จนกระทั่งใกล้กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คงมีผลงานชื่อเดินไปในราวป่า โดย รอ.จันทรคีรี...วางแผงหนังสืออยู่ไม่กี่วันเกิดรายการมิคสัญญีตุลาเลือด แล้วนามปากกาดังกล่าวก็มลายหายเลือนมาจนปัจจุบันนี้?
ผมเขียนเรื่องนี้ให้อ่านสบายๆ ไม่ได้สื่อสารอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่ตั้งประเด็นว่าหากเราจะมีผลงานที่คล้ายๆกับบรรดานักคิดนักเขียนเมื่อยุคสมัยก่อนๆได้นำเสนอออกมา สมมุติมีงานเขียนในลักษณะนั้นมันควรจะตั้งชื่อว่าอย่างไรดีเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ถ้าถามผมก็ขอบอกว่า “ฉันหน่ายการตอแหล” ความหมายยุคสมัยนี้มันเป็นอย่างนี้จริงๆนะครับ ผมขอยืนยันเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง?...
มันเป็นยุคสับสนอลหม่าน แม้กระทั่งปัญญาชนที่เขียนหนังสือออกมาตามที่เอ่ยถึงข้างต้น ยังพลอยสับสนจนอยากสร้างการเมืองใหม่?
Labels: ถนนไปสู่ก้อนเมฆ, เรืองยศ จันทรคีรี, วิทยากร เชียงกูร
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home