Monday, 27 October 2008

บุกเกาะหมากมีของฝากสมอง - Malaysia Festival of the Mind

Malaysia Festival of the Mind 2008 – Penang

เมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม ศกนี้ ทีมงาน บูซานเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) และสมาคมสถาบันนวัตกรรมความจำ 4 ชีวิตบุกเกาะหมากเพื่อร่วมงาน Malaysia Festival of the Mind ที่ วิทยาลัยตนกูอับดุลเลาะห์มาน, ปีนัง ความเป็นมา งานนี้เป็นกิจกรรมที่จัดโดย Malaysian Mental Literacy Movement (MMLM) และมหาวิทยาลัยตนกูอับดุลเลาะห์มานและได้รับความสนับสนุนจากหนังสือพิมพ์ The Star


MMLM ก่อตั้งโดย ตน นายแพทย์ หลิงเหลียงสิค ( Tun Dr Ling Liong Sik) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันนายแพทย์หลิงเหลียงดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ MMLM ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อแนะนำส่งเสริมให้ชาวมาเลเซียได้รู้จักเทคนิคและฝึกทักษะในการยกระดับความคิด เพื่อเป็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรทุนมนุษย์ให้พร้อมที่จะเผชิญกับโลกยุคโลกาภิวัตน์

นายแพทย์หลิงเหลียงเป็นนายกสมาคมจีนมาเลเซีย หรือ Malaysia Chinese Association ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง วิทยาลัยตนกูอับดุลเลาะห์มาน ขึ้นครั้งแรกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี 2512 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจีนได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษา และต่อมาได้เปิดสาขาที่ ยะโฮร์ ปีนัง เปรักและปะหัง ปัจจุบันวิทยาเขตที่กัวลาลัมเปอร์ได้รับการยกวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัยไปแล้ว แต่สาขาที่ปีนังยังคงเป็นวิทยาลัยอยู่


กิจกรรมของ MMLM ในช่วงสามปีที่ผ่านมาก็มี การจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ สัมมนา สุนทรียสนทนา การประกวดและแข่งขัน และช่วยสนับสนุนด้านการเงินในการจัด Festival of the Mind มาแล้วรวมครั้งนี้ที่ปีนัง 4 ครั้ง โดยจัดที่กัวลาลัมเปอร์สองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อปี 2551 ครั้งที่สอง 4-5 สิงหาคม 2552 และปีนังอีกสองครั้ง) ส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการก่อตั้ง MMLM ของนายแพทย์หลิงเหลียง ก็คือ การได้เข้าฟังคำบรรยายของ Tony Buzan เมื่อปี 2550 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์


Poster Malaysia Festival of the Mind 2008

Tun Dr Ling Liong Sik ผู้ก่อตั้ง Malaysian Mental Literacy Movement (MMLM) และริเริ่ม Malaysia Festival of the Mind


ซุ้มของนักศึกษามหาวิทยาลัย USM

อาจารย์ขวัญฤดีสัมผัสสมองแพะของจริง ที่ ซุ้ม BRAINETWORK ของนักศึกษามหาวิทยาลัย USM
สัมผัสสมองของแท้
ทีมงานของเรา ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ขวัญฤดี ผลอนันต์ คุณรัญชนา กิจมโน คุณวิภาวรรณ ยอดดำเนินและผม ได้มีโอกาสร่วมงานทั้งสองวัน แม้วันแรกจะไปไม่ทันพิธีเปิด แต่ก็ได้ซึมซับรับรู้อย่างทั่วถึง ข้อดีของงานนี้คือ ฟรี ผู้เข้าร่วมงานทั้งหน่วยงานที่มาออกบู้ธเสนอสินค้าและบริการ และนักศึกษาประชาชนที่เข้ามาร่วมรับฟังหรือชมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น จึงทำให้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากหนาตาเกือบตลอดวัน การเข้าร่วมฟังคำบรรยายหรือเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการก็ใช้วิธีรับบัตรคิว ห้องเต็มก็หยุดแจกบัตร ผู้สนใจต้องไปเข้าห้องอื่นแทน
งานแบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วนซุ้มแสดงสินค้าและบริการ กับส่วนของกิจกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย การบรรยาย การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ
ซุ้มบริษัทและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสมอง ความจำและการเรียนรู้ มีทั้งชมรมของมหาวิทยาลัย บริษัทจัดฝึกอบรมสัมมนาที่หลากหลาย เช่น Mind Mapping, หมวกหกใบ, Speed Reading, สอนวาดภาพ, ฝึกสมาธิ, ฝึกความจำ
นอกจากนั้นก็มีร้านขายของเล่นฝึกสมองและร้านหนังสืออย่างละสองสามร้าน ลักษณะซุ้มต่างๆ ที่จัดก็ตรงตามจุดประสงค์ที่ว่า “Mind” ซึ่งในที่นี้หมายถึง “ความคิด” เนื้อหาก็จะเป็นเรื่องที่ว่าด้วยสมอง ความคิด ของด้านการเรียนรู้หลักการทำงานของสมอง การพัฒนาทักษะ เพิ่มประสิทธิภาพ และวิธีนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ในแต่ละซุ้มก็จะมีการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป เช่น การนำหนังสือที่แนะนำวิธีต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาสมอง หรือเกมส์ที่ใช้ฝึกความคิด
ซุ้มที่เรียกความสนใจผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดซุ้มหนึ่งก็คือ ชมรม Brainetwork ของมหาวิทยาลัย USM ซึ่งจัด “สมองแพะ” ของจริงมาให้ผู้เข้ารับการอบรมสัมผัสได้ เพื่ออธิบายถึงความสามารถของสมองทั้งสองซีก- ซ้ายและขวา เช่น สมองซีกซ้ายควบคุมด้านภาษา การคำนวณ ความคิดเชิงวิเคราะห์ หรือตรรกะ ส่วนซีกขวาจะเกี่ยวกับเรื่องศิลปะ จินตนาการและการมองแบบเป็นมิติ นอกจากนี้ภายในซุ้มต่างๆ ก็จัดเกมส์หลากหลายประเภทเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาร่วมชมงานได้ทดลองปัญญากัน เช่นเกมส์ทดสอบว่าเราใช้สมองซีกซ้ายหรือขวามากกว่ากัน การทำแบบทดสอบก็คือการจ้องรูปภาพ ที่เป็นลักษณะคล้าย ๆ ดอกไม้ 6 ดอก หากดอกไม้เหล่านั้นหมุนแสดงว่าคุณใช้สมองซีกขวาเป็นเยี่ยม แต่หากดอกไม้ไม่ค่อยหมุนล่ะก็ ไม่ต้องตกใจเพราะคุณใช้สมองซีกซ้ายมากกว่าซีกขวาเท่านั้นเอง

บรรยากาศตอนลงทะเบียน รับของแจก

ร้านหนังสือ เต็มไปด้วยหนังสือขงอ Tony Buzan เช่น Brain Child (เด็กหัวใส) Mind Map for Kids, How To Mind Map และชุด Power of .. Intelligence
ตัวอย่าง Mind Map ของชาวมาเลเซีย ที่นำมาแสดงในงาน

4 BLIs (วิทยากรสนอ Mind Map) ในมาเลเซียและไทย จากซ้ายไปขวา Chan Kum Hoe, ขวัญฤดี-ธัญญา ผลอนันต์, Lim SIew Wah

AnantKasibhala แช็มป์ความจำบรรยาย
บรรยากาศห้องประชุม
Workshop
เพื่อให้พวกเราชาวไทยได้เข้าร่วมWorkshop จึงแบ่งกำลังกันออกไปที่ไปเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งให้ทั้งความสนุกและได้ความรู้ด้วย เช่น การฝึกวาดรูป ซึ่งใช้ทักษะง่าย ๆ แค่ ลากเส้น ต่อจุด ด้วยเส้นโค้ง เส้นตรง ก็สามารถสร้างสรรค์ จินตนาการออกมาเป็นรูป ลวดลายได้แล้ว หรือการฝนดินสอให้เป็นวงกลมไปเรื่อย ๆ ให้ต่อกันเป็นตัวคน ออกมาดูเหมือนยางมิชสิน

แล้วยังมีการฝึกสมอง โดยขยับไม้ขยับมือพร้อม ๆ กัน ทั้งมือซ้ายและขวา แต่ให้เป็นท่าต่างกัน เช่น มือซ้ายกำมือไว้ ส่วนมือขวาแบห้านิ้ว พอวิทยากรให้เปลี่ยนก็ต้องสลับมือกัน พอสักพักก็เปลี่ยนจากกำไว้มือหนึ่ง อีกมือหนึ่งชูขึ้นมา 4 นิ้ว พอวิทยากรให้จังหวะก็ต้องเปลี่ยนซ้ายขวาให้ทัน ซึ่งเราก็จะสับสนทำไม่ค่อยได้ ไม่ทันด้วย แต่ก็สนุกดี ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้ฝึกสมอง-ร่างกาย ซ้ายขวาได้อย่างดี

Workshop ที่ดูเหมือนเรื่องยาก แต่สนุกมาก คือ การฝึกความจำ โดย Mr. Anant Kasibhatla เป็นวิทยากรที่มีลีลาการนำเสนอได้สนุกสนาน และดึงความสนใจได้ดีเยี่ยม มีคนเข้าร่วมฟังอย่างล้นหลาม แม้จะเป็นช่วงบ่ายก็ตาม

ในห้องบรรยายเกี่ยวกับ Speed Reading ก็น่าสนใจ วิทยากร คือ Mr.Chan Kum Hoe ซึ่งเป็น Buzan Licensed Instructor ด้วย ให้เทคนิคในการอ่านเร็ว และได้ลองฝึกอย่างง่าย ๆ ด้วย แค่เราใช้นิ้วไล่ตามตัวอักษรก็ช่วยได้เยอะแล้ว ส่วนอีกห้องหนึ่ง Ms. Joy Siew Wah Lim นำเสนอเรื่องเรื่อง The Power of Creative Intelligence ทั้งสองคนเป็นชาวมาเลเซียที่มานำเสนอใน Mind Map Festival 2008 ที่เมืองไทยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ส่วน Course สุดท้ายที่ได้เข้าก่อนกลับ เป็นเรื่องของการแนะนำ Mind Map สำหรับการเรียน โดย Mr. K C Liew มีตัวอย่างสวย ๆ ให้ดูมากมาย และยกตัวอย่างนักเรียนที่เรียนดีขึ้น โดยการนำ Mind Map มาช่วยด้วย

ทีมงานของเราส่วนหนึ่งยังหาญกล้าท้าสมองเข้าไปฟังการบรรยายของเจ้าของ Wonder Tree Global ซึ่งสอนวาดรูป และบรรยายเป็นภาษาจีนล้วน ๆ อาศัยภาษากายและการสังเกตผู้ฟังรอบ ๆ เราก็สามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่เคอะเขิน แถมยังเปล่งเสียงเป็นภาษาจีนอย่างเต็มปากเต็มคำ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่องภาษาจีนเลย

นอกจากนั้นก็ได้มีโอกาสพบ Jimmy Yeoh นักคิดเกมส์คณิตศาสตร์ชาวมาเลเซียอีกด้วย

บรรยากาศแห่งการเรียนรู้และการตื่นตัวเรื่องศักยภาพของสมองของเพื่อนบ้านครั้งก็ทำให้ทีมงานได้ความคิด ๆ ใหม่เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงงานของเราให้ดีขึ้น และที่สำคัญคือเป็นการตอกย้ำว่า ทักษะในการคิดสร้างสรรค์ การจำ การอ่านเร็ว ล้วนฝึกได้ทั้งสิ้น และมีวิธีฝึกที่หลากหลายทั้งใหม่และเก่า

ก่อนกลับคุณ Chan Kum Hoe พาเราไปเดินเล่นริมหาด Batu Ferringhi และรับประทานอาหารจีนที่ร้านในห้าง Metro จากนั้นก็ไปสนามบิน
[บรรยากาศหาด Batu Ferringhi]














Labels: , , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home