เส้นทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2492-ปัจจุบัน
เส้นทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2492-ปัจจุบัน
ผลิบาน
วรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วงปี 2492-2495
จุดเริ่มของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” น่าจะมาจากแนวคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อชีวิต” ซึ่งนำเสนอโดย อัศนี พลจันทร (อินทรายุทธ, นายผี) และอุดม สีสุวรรณ (พ.เมืองชมพู, บรรจง บรรเจิดศิลป์) ทั้งสองเสนอแนวคิดเรื่องนี้ในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำในขณะนั้น “อินทรายุทธ” เสนอความคิดในอักษรสาส์นรายเดือน ในปิตุภูมิและมหาชน เขาวิจารณ์วรรณคดีไทยโบราณหลายเรื่อง โดยยึดหลักการว่ากวีต้องอยู่เคียงข้างประชาชน และวรรณคดีต้องนำเสนอความเป็นจริงแห่งชีวิต และสังคม ส่วน พ.เมืองชมพู ยืนยันโดยหนักแน่นว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ไม่มี และก็ไม่อาจมี มีแต่ “ศิลปะเพื่อชีวิต” เพราะศิลปะกำเนิดจากชีวิตและเกี่ยวพันกับชีวิต
“ชมรมนักประพันธ์” ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2493 โดยการริเริ่มของมาลัย ชูพินิจ (แม่อนงค์) ชมรมนี้จัดประชุมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อยครั้ง ด้วยหัวข้อที่เกี่ยวกับการประพันธ์ ครั้งหนึ่งมีการเสนอคำว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” เข้าสู่วงอภิปราย นักเขียนเพื่อชีวิตในยุคแรกหลายคนได้แสดงจุดยืนและอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์วรรณกรรม เช่น อิศรา อมันตกุล ประกาศว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ให้ยาพิษแก่ประชาชน” ศรีบูรพา ตั้งคำถามว่า “จะใช้ศิลปะเพื่อให้เป็นคุณกับคนส่วนมากหรือเป็นคุณกับคนส่วนน้อย” และกล่าวว่า “ทำอย่างไรจึงจะทำให้ศิลปะนั้นเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์อย่างไพศาลที่สุดที่จะเป็นได้” การอภิปรายของ “ชมรมนักประพันธ์” น่าจะจุดประกายความคิดสร้างจิตสำนึกแก่นักประพันธ์รุ่นใหม่ในยุคนั้นไม่น้อย
ในช่วงนี้มีวรรณกรรมเพื่อชีวิตเกิดขึ้นมากมาย ประเภทนวนิยาย, เรื่องสั้น, กวีนิพนธ์ ที่เด่นๆ มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เขียน นักบุญจากชานตัน ขอแรงหน่อยเถอะ เรื่องสั้น จนกว่า เราจะพบกันอีก นวนิยาย, อุดม อุดาการ (อ.อุดาการ) เขียน บนผืนแผ่นดินไทย เรื่องสั้น, อัศนี พลจันทร (นายผี) เขียน อีศาน กวีนิพนธ์, อิศรา อมันตกุล เขียน เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี กวีนิพนธ์, เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน ความรักของวัลยา นวนิยาย, ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ เขียน แผ่นดินนี้ของใคร นวนิยาย, ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา (อุชเชนี) เขียน บทกวีใน “ขอบฟ้าขลิบทอง” และ “ดาวผ่องนภาดิน” กวีนิพนธ์
นอกจากนี้ยังมีกวีนิพนธ์ของเปลื้อง วรรณศรี และทวีป วรดิลก (ทวีปวร)
หนังสือสารคดีมี เดชา รัตนโยธิน เขียน วิวัฒนาการทางสังคม อุดม สีสุวรรณ (อรัญญ์ พรหมชมภู) เขียน ไทยกึ่งเมืองขึ้น, อุดม สีสุวรรณ (บรรจง บรรเจิดศิลป์) เขียน ชีวิตกับความใฝ่ฝัน, สุภา สิริมานนท์ เขียน แคปิตะลิสม์
นอกจากนี้ยังมี “รวมปาฐกถาภาคฤดูร้อน พ.ศ.2495” ซึ่งมีบทความเด่นๆ เช่น “ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ “การประพันธ์และสังคม” ของเสนีย์ เสาวพงศ์
ช่วงนี้คือช่วงผลิบานของวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคแรก
กบฏสันติภาพ
เกิดรัฐประหารเงียบในปลายปี 2494 มีการคุกคามเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์จึงรวมตัวกันตั้ง “คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์” เพื่อต่อต้านการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมกับเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ ต่อต้านสงครามเกาหลี วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 รัฐบาลกวาดล้างจับกุมนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่ร่วมชุมนุมกัน ข้อหากบฏภายในราชอาณาจักร พร้อมกันนั้น มีการกวาดล้างกลุ่มการเมืองอื่นๆ เช่น ขบวนการกู้ชาติ ขบวนการสันติภาพ การกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่นี้ มีผู้ถูกจับกุมนับร้อยคน ทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา ประชาชน รัฐบาลใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2495 มีผลให้รัฐบาลโยงข้อหาผู้ถูกจับกุมเข้ากับพระราชบัญญัติฉบับนี้ ด้วยการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ซึ่งเรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” หรือ “กบฏ 10 พฤศจิกา” ผู้ที่ถูกจับกุมได้แก่ ศรีบูรพา อารี ลีวีระ (ต่อมาถูกตำรวจของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยิงทิ้งอย่างเหี้ยมโหด) สุภา สิริมานนท์ อุทธรณ์ พลกุล เปลื้อง วรรณศรี นเรศ นโรปกรณ์ สุพจน์ ด่านตระกูล เป็นต้น ต่อมาผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ได้รับ นิรโทษกรรม ในปี พ.ศ.2500 เนื่องในโอกาสฉลองปีกึ่งพุทธกาล
สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตจึงชะงักงันไปโดยปริยายชั่วขณะหนึ่ง
ไม่ยอมสยบ
วรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วง พ.ศ.2495-2501
แม้จะถูกกวาดล้างกรณี “กบฏสันติภาพ” นักเขียนยังผลิตวรรณกรรมเพื่อชีวิตออกมาอย่างต่อเนื่อง
“ศรีบูรพา” สร้างงานจากคุกบางขวาง “แม่” ของ แม็กซิม กอร์กี้ เรื่องแปล “แลไปข้างหน้า” นวนิยาย “อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ” กลอนเปล่า
เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน “ปีศาจ” “ล่องใต้” (นวนิยายการปฏิวัติในละตินอเมริกา) นวนิยาย
ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ เขียน “เมืองทาส” “โศกนาฏกรรมของสัตว์เมือง” นวนิยาย
สด กูรมะโรหิต เขียน “ระย้า” “เลือดสีแดง” “ เลือดสีน้ำเงิน” นวนิยาย
อิศรา อมันตกุล เขียน “ธรณีประลัย” นวนิยาย
สุวัฒน์ วรดิลก เขียน “หลั่งเลือดลงโลมดิน” (แรงบันดาลใจจากบทกวี “อีศาน” ของนายผี) นวนิยาย “เทพเจ้า” เรื่องสั้น
เดชะ บัญชาชัย เขียน “ประวัติจริงของอาคิว” เรื่องแปล
รุ่งแสง เขียน “ลุ่มแม่น้ำวอลก้า” “รวมเรื่องสั้น แม็กซิม กอร์กี้” เรื่องแปล
สุภา สิริมานนท์ เขียน “คอรัปชั่นในวงการหนังสือพิมพ์” บทความ
นวชน เขียน “หลู่ซิน” เรื่องแปล
คำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม) เขียน “ฟ้าบ่กั้น” รวมเรื่องสั้น
อัศนี พลจันทร (นายผี), (อินทรายุธ) เขียน “เราชนะแล้ว แม่จ๋า” “โคลงกลอนของ นายผี” “ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน” กวีนิพนธ์
อุชเชนี และนิด นรารักษ์ เขียน “ขอบฟ้าขลิบทอง” รวมบทกวีนิพนธ์
ปี พ.ศ.2498 จิตร ภูมิศักดิ์ (ทีปกร) ได้เขียนบทความขนาดยาวอันลือลั่น 4 ตอน อะไรหนอที่เรียกว่าศิลปะ, ศิลปะบริสุทธิ์มีจริงแท้หรือไฉน, ที่ว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” นั้นคืออย่างไรกันแน่หนอ และ “ศิลปะเพื่อชีวิต” ความหมายแท้จริงของมันเป็นไฉน ในปี พ.ศ.2500 จิตร ยังมีบทความ “ศิลปะเพื่อประชาชน” ออกมาอีก บทความทั้งห้าตีพิมพ์เป็นเล่มเดียวกันชื่อ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ในปี พ.ศ.2515
การไม่ยอมสยบกับเผด็จการแสดงถึงอหังการของนักเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคแรก
ยุคมืดทางปัญญา ปี 2501-2507
เดือนตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหาร ใช้อำนาจเผด็จการโดยเบ็ดเสร็จ กวาดล้างจับกุมนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์เข้าคุกเป็นจำนวนมาก ปิดหนังสือพิมพ์ ประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม เช่น “แม่” แปลโดย ศรีบูรพา “นิติศาสตร์ 2500” ที่ตีพิมพ์งานอย่าง “โฉมหน้าศักดินาไทย” ของสมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์) “การวิเคราะห์ลักษณะทางชนชั้นในประเทศไทย” ของ พัฒนา รัมยะสุต “โฉมหน้าจักรพรรดินิยม” ของ มณี ศูทรวรรณ
การจับกุมคุมขังนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์กลายเป็นแรงผลักดันให้นักเขียนหลายคนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย “ศรีบูรพา” ลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีนจนเสียชีวิตที่นั่น เสนีย์ เสาวพงศ์ หยุดเขียนชั่วคราว มุ่งรับราชการทางการทูตอย่างเดียว “ลาว คำหอม” ไปทำไร่ที่ปากช่อง นักเขียนหลายคนเปลี่ยนแนวเขียนไปเป็นเรื่องเริงรมย์
จิตร ภูมิศักดิ์ คนเดียวที่ยังยืดหยัดเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างต่อเนื่องจริงจัง แม้จะถูกขังอยู่ในคุกลาดยาว จิตรยังสร้างผลงานที่มีคุณค่า เช่น “พจนานุกรมไทย-มูเซอ” “ความเป็นมาของคำ สยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” งานแปลมี “แม่” ของ แม็กซิม กอร์กี้ “ธรณีกรรแสง” ของนักเขียนอินเดีย บทละครเรื่อง “มนต์รักจากเสียงกระดึง” และบทเพลงอีกจำนวนหนึ่งเช่น “แสงดาวแห่งศรัทธา” “มาร์ชชาวนาไทย” “รำวงวันเมย์เดย์” “ศักดิ์ศรีของแรงงาน” เป็นต้น
ปี 2507 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ถูกคุมขัง จิตร แต่งกวีนิพนธ์ในนาม “กวี ศรีสยาม” และ “กวีการเมือง” ลอบส่งออกมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เช่น “จิ้งเหลนกรุง” “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา” “วิญญาณหนังสือพิมพ์-เปิบข้าว” บทกวีเหล่านี้มักจะยาว แต่งโดยใช้ฉันทลักษณ์โบราณ แต่เนื้อหากล่าวถึงทุกข์ยากของประชาชนและการกดขี่ของชนชั้นปกครอง
ยุคนี้วรรณกรรมเพื่อชีวิตแทบสูญหายโดยสิ้นเชิง ด้วยอำนาจเผด็จการ
ฟื้นตัว
วรรณกรรมเพื่อชีวิตก่อน 14 ตุลา (พ.ศ.2508-2516)
หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจรสืบทอดอำนาจเผด็จการจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความตึงเครียดทางการเมืองเริ่มผ่อนคลาย แม้จะตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นเวลายาวนาน ประเทศชาติกลับตกต่ำลงในทุกทาง นักวิชาการรุ่นใหม่, นักศึกษาจึงหันมาตรวจสอบสภาพทางสังคมรอบตัวอย่างจริงจัง ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบถึงสังคมและชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่
การที่แกนนำนักเขียนเพื่อชีวิตลี้ภัยไปยังต่างแดนหรือเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ความคึกคักตกอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ชุมนุมวรรณศิลป์และกลุ่มวรรณศิลป์อิสระ เช่น ชมรมพระจันทร์เสี้ยว, กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย, กลุ่มเทคนิคโคราช, กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิตตามมหาวิทยาลัยต่างๆ กลายเป็นกลุ่มสำคัญในการผลักดันวรรณกรรมเพื่อชีวิต มีการจัดนิทรรศการ, อภิปราย, พิมพ์บทประพันธ์, นำบทประพันธ์เพื่อชีวิตในยุคก่อนมาพิมพ์ซ้ำ การเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มฟื้นตัว
มีนิตยสารเกิดใหม่ช่วงนี้ ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตมีเวที สามารถงอกงามขึ้น ได้แก่ สังคมศาสตร์ปริทัศน์, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา, ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน, ประชาธิปไตย และมหาราษฎร์ ที่สำคัญคือ กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต ได้ออกหนังสือ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ตีพิมพ์ผลงานทั้งเก่าและใหม่ กลุ่มนี้ออกหนังสือได้หกฉบับ คณะผู้จัดทำหลายคนถูกจับข้อหา “กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” (ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา) หนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิตจึงปิดฉากไป
ในยุคนี้มีการนำวรรณกรรมเพื่อชีวิตเด่นๆ ในยุคแรกมาตีพิมพ์ซ้ำ เช่น “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของ “ทีปกร” (จิตร ภูมิศักดิ์) “เมืองนิมิตร” ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ ความรักของวัลยา, ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ “เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี” ของ อิศรา อมันตกุล “เราชะนะแล้ว แม่จ๋า” ของ อัศนี พลจันทร
การได้สัมผัสกับงานเขียนที่ดีของนักเขียนก้าวหน้าในอดีต ทำให้รู้สึกว่าตนกำลังต่อสู้กับสิ่งเดียวกันกับที่คนรุ่นก่อนเคยต่อสู้มาแล้วอย่างดุเดือด จึงเป็นการปลุกเร้าจิตสำนึกทางสังคมการเมืองของคนยุคนี้ให้เข้มข้นขึ้น
วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มฟื้นตัวมารับใช้สังคม
ตื่นเถิดเสรีชน
การเติบโตของวรรณกรรมเพื่อชีวิตก่อน 14 ตุลา ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคแรก ทั้งรูปแบบ เนื้อหา แนวคิด และวิธีการนำเสนอ อาจมีบางคนทดลองใช้กลวิธีใหม่ในการนำเสนอ แต่ทุกคนมีจุดยืนว่าการสร้างสรรค์วรรณกรรมต้องเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์สังคม
เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่าง วรรณกรรมเพื่อชีวิตที่สร้างสรรค์โดยนักศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ ที่เด่นๆ มี “ตั๋วเดินทาง” ของประเสริฐ สว่างเกษม “ความเงียบ” ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี “ละคอนโรงเก่า” ของนัน บางนรา “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของวิทยากร เชียงกูล “คนบนต้นไม้” ของนิคม รายวา “ถนนไปสู่ก้อนเมฆ” ของธัญญา ผลอนันต์ “เบิ่งฟ้าแนมดิน” ของศรีศักดิ์ นพรัตน์ “เราจะฝ่าข้ามไป” ของ วิสา คัญทัพ “สงครามในหลุมศพ” ของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ “ดอกไม้ที่หายไป” ของสาคร “ใต้สำนึก” ของ วิรุณ ตั้งเจริญ “ภาพชิ้นสำคัญ” ของ วรฤทธิ์ ฤทธาคนี “เนื้อในกระดูก” ของ แน่งน้อย พงษ์สามารถ “หนุ่มหน่ายคัมภีร์” “โง่เง่าเต่าตุ่น เมดอินยูเอสเอ” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
เรื่องสั้นใช้รูปแบบนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น “ตัวทาส” ของอนุช อาภาภิรม “กรุงเทพฯ 1982” ของ อดุล เปรมบุญ “วันหนึ่งของกรุงเทพฯ” ของศิริชัย นฤมิตรเรขการ “จุลินทรีย์พลาสติก” และ “การเคลื่อนที่ของเหล็กหมายเลขหนึ่ง” ของสุวัฒน์ ศรีเชื้อ
นอกจากนี้มีบทละคร เช่น ชั้นที่ 7 ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ฉันเพียงแต่อยากออกไปข้างนอก, งานเลี้ยง, นายอภัยมณี ของ วิทยากร เชียงกูล นกที่บินข้ามฟ้า ของคำรณ คุณะดิลก
ด้านกวีนิพนธ์ กวีรุ่นใหม่ประสานบทบาทกวีนิพนธ์เข้ากับการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะบทกวีของยุทธพงษ์ ภูริสัมบรรณ (รวี โดมพระจันทร์), วิสา คัญทัพ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บทกวี “ตื่นเถิดเสรีชน” ของรวี โดมพระจันทร์
ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา ฯลฯ
บทกวีนี้กลายเป็นบทกวีแห่งการสู้รบของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และถูกขับขานทุกครั้งในการชุมนุมทางการเมือง
อีกคนหนึ่งคือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อดีตนักกลอนกลุ่มสายลม-แสงแดด เริ่มหันมาเขียนบทกวีสะท้อนสังคมอย่างจริงจังเริ่มจาก “เพลงขลุ่ยกลับมาหากอไผ่” “เพลงเปลญวน” “ทางเดินแห่งหอยทาก”
ทางด้านนักประพันธ์อาชีพ มีนิยายหลายเล่มกล่าวถึงสังคมและการเมือง ที่เด่นๆ มี “เขาชื่อกานต์” ของสุวรรณี สุคนธา และ “ความรักสีเพลิง” ของ สีฟ้า (ม.ล.ศรีฟ้า มหาวรรณ) ที่กล่าวถึงทัศนะของนักศึกษาต่ออำนาจเผด็จการขณะนั้น
วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มทำหน้าที่ปลุกเร้าผู้คนให้ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการ
หนังสือเล่มละบาท
นอกจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรรวมศูนย์ของนักศึกษาแล้ว ยังมีกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมากมายหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสภาหน้าโดม, กลุ่มเศรษฐธรรม, กลุ่มผู้หญิง (ธรรมศาสตร์), กลุ่มสภากาแฟ (เกษตร), กลุ่มรัฐศึกษาและกลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ (จุฬาฯ), กลุ่มวลัญชทัศน์ (เชียงใหม่), ชมรมคนรุ่นใหม่ (รามคำแหง), กลุ่มศิลปและวรรณลักขณ์ (ประสานมิตร), กลุ่มศิลป (เทคนิคโคราช) ในระดับนักเรียนนอกจากศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย มีกลุ่มยุวชนสยาม กลุ่มกิจกรรมเหล่านี้มักจะจัดทำหนังสือหารายได้ โดยขายหน้าประตูมหาวิทยาลัยในราคาเล่มละ 1 บาท หนังสือประเภทนี้จึงเรียกขานกันว่า “หนังสือเล่มละบาท” หนังสือรายสะดวกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น “ภัยขาว” “คัมภีร์” “ปลด” “วลัญชทัศน์” “กด” ฯลฯ มักนำเรื่องสั้นและบทกวีเพื่อชีวิตยุคแรกมาพิมพ์ เช่น บทกวีของนายผี, เปลื้อง วรรณศรี, จิตร ภูมิศักดิ์ และเสนอบทความแนวคิดมาร์กซิสต์ เช่น มาร์กซิสต์ : แนวคิดสำหรับซ้ายใหม่ และคำประกาศของความรู้สึกใหม่ ใน “วลัญชทัศน์” ฉบับมนุษย์และปัญหา ใน “คัมภีร์” เริ่มพูดถึงการปฏิวัติของประชาชน ส่วน “ภัยขาว” โจมตีอเมริกาในสงครามเวียดนาม หนังสือ “เล็บ” ของกลุ่มผู้หญิงที่เรียกร้องให้ปลดปล่อยผู้หญิงเสียทีและ “ภัยเขียว” ที่เขียนทิ่มแทงผู้นำเผด็จการทหารบางคน
หนังสือเล่มละบาท “มหาวิทยาลัย : ที่ยังไม่มีคำตอบ” ของชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในหน้าที่ 6 มีข้อความว่า
สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ
ข้อความนี้เสียดสีการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ผลคือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีคำสั่งลบชื่อนักศึกษารามคำแหงในชมรมคนรุ่นใหม่ เป็นผลให้นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516 และขยายผล เป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ การประท้วงครั้งนั้นนักศึกษาได้รับชัยชนะ บทกวี “ตื่นเถิดเสรีชน” ถูกย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมทั้งเพลง “สู้เข้าไปอย่าได้ถอย” ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล การประท้วงครั้งนั้นจบลงด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 6 เดือน ใครจะนึกว่าการประท้วงครั้งนั้นจะเป็นการซ้อมใหญ่ของนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา นี่คือผลสะเทือนจากหนังสือเล่มละบาท!
14 ตุลาคม 2516 อำนาจเผด็จการพังทลาย ส่วนหนึ่งย่อมมาจากอำนาจของวรรณกรรม
แตกดอกออกช่อ
วรรณกรรมเพื่อชีวิตระหว่าง 14 ตุลา 16-6 ตุลา 19
แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นเพียง 3 ปี แต่เป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างมากมาย ด้วยปัจจัยบรรยากาศแวดล้อมทางสังคมการเมือง และด้วยจิตสำนึกขบถของนักเขียนหนุ่มสาว เนื้อหาของวรรณกรรมยุคนี้ เน้นการต่อสู้ของนักศึกษา ชาวนา กรรมกรกับอำนาจรัฐและความทุกข์ยากในชีวิต มักปลุกเร้าให้ต่อสู้ด้วยความรุนแรง ผลงานส่วนใหญ่จะเป็นบทกวีและเรื่องสั้น นวนิยายมีบ้างไม่มาก
เรื่องสั้นในยุคนี้ที่เด่นๆ มี “ก่อนไปสู่ภูเขา” ของ สถาพร ศรีสัจจัง
“ความในใจของกระดูกในฟาร์มจระเข้” “งูกินนา” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร
“แก้วหยดเดียว” “พ่อ” และ “ชายผ้าเหลือง” ของ ศรีดาวเรือง
“แค้นของคำพา” ของ วิสา คัญทัพ
“คดีฆาตกรรมบนก้อนเมฆ” ของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ
“บันทึกของคนแซ่ปึง” ของ กรณ์ ไกรลาศ
นวนิยายส่วนใหญ่เป็นงานเขียนของนักเขียนรุ่นอาวุโส ที่เด่นๆ มี
“พิราบแดง” “พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” “แผ่นดินเดียวกัน” ของ สุวัฒน์ วรดิลก (สันติ ชูธรรม, รพีพร)
“ไผ่ตัน” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
“ตำบลช่อมะกอก” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร
“กระทรวงคลังกลางนา” ของ นิมิต ภูมิถาวร
“แสงเสรี” ของ สุชีพ ณ สงขลา
วรรณกรรมยุคนี้จึงเสมือนเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ทางความคิด และเป็นเครื่องมือเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง ช่วงเวลาดังกล่าวมีหนังสือเกี่ยวกับการเมืองตีพิมพ์กว่า 300 เล่ม
นักเขียน คือ “นักรบ” วรรณกรรม คือ “อาวุธ”
กวีประชาชน
กลุ่มนักเขียนที่เป็นผลผลิตที่น่าภาคภูมิใจของเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ กวี ช่วงนี้ถือเป็นยุคทองของบทกวีเพื่อชีวิต กวีแนวเพื่อชีวิตสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมาย เช่น
“บทกวีเพื่อชีวิต” “ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย” และ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ของ รวี โดมพระจันทร์
“ด่านสาวคอย” “เราจะฝ่าข้ามไป” ของ วิสา คัญทัพ
“ซับแดง” ของ ประเสริฐ จันดำ
“น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว” ของ วิสา คัญทัพ และประเสริฐ จันดำ
“จารึกบนหนังเสือ” ของ ประเสริฐ จันดำ และ สุรชัย จันทิมาธร
“คำเตือนของผองเพื่อน” ของ สถาพร ศรีสัจจัง
“ขออย่าให้เราสลายพลังเพราะจะพังทลาย” “เขียนให้อาชีวะ” ของ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
“อหังการของดอกไม้” ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา
กวีเด่นที่มีผลงานลุ่มลึกหนักแน่นในแนวคิดเชิงสังคม และแพรวพราวด้วยภาษาและกลวิธีทางวรรณศิลป์ คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผลงาน “อาทิตย์ถึงจันทร์” เป็นโคลง 500 บท พรรณนาเหตุการณ์ต่อสู้ของนักเรียนนิสิตนักศึกษาจากวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลา 16 ถึง วันจันทร์ที่ 15 ตุลา 16 อีกเล่ม คือ “เพียงความเคลื่อนไหว” รวมบทกวีที่ตีพิมพ์บทที่เด่นคือ “หนทางแห่งหอยทาก” “เพียงความเคลื่อนไหว” รวมบทกวีเล่มนี้ได้รับรางวัลซีไรต์ปี 2523 และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี 2536 คู่กับ “อุชเชนี” (ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา) กวีหญิงแนวเพื่อชีวิตในทศวรรษ 2490
นักเขียนอาวุโสแนวเพื่อชีวิตอีกคนที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คือ “ลาว คำหอม” คำสิงห์ ศรีนอก
ช่วงเวลาเบ่งบานของวรรณกรรมเพื่อชีวิตแสนสั้น วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดอกไม้แห่งปัญญาดอกนี้ถูกทำลาย
หนังสือต้องห้าม
หลังการทำลายชีวิตนักศึกษาอย่างเหี้ยมโหดในวันที่ 6 ตุลา 19 รัฐบาลเผด็จการสมัยนั้นยังติดตามทำลายหนังสืออีกมากมาย มีการประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม 204 รายชื่อ มีผลให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตนับล้านเล่มถูกเผา ถูกฝัง ถูกทำลาย กลายเป็นหนังสือหายากในปัจจุบัน ช่วงเวลานี้เป็นช่วง “ตายสนิท” ของวรรณกรรมเพื่อชีวิต นักเขียนเพื่อชีวิตส่วนใหญ่หนีตายขึ้นภูร่วมต่อสู้รัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ หลายคนยุติบทบาทหรือเปลี่ยนแนวการเขียน
รายชื่อหนังสือต้องห้าม (ปัจจุบันยังไม่มีการยกเลิก)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง
ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียนแสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน คือ
1. การเมืองเรื่องของประชาชน เขียนโดย แนวร่วมประชาชาติกันทรารมย์
2. เก้าอี้ป่า เขียนโดย เก้าอี้ป่า
3. การ์ตูนปฏิวัติจากจีนใหม่ หญิงแดง จดหมาย ขนไก่ กองทหาร เขียนโดย หวาซาน หลิวจี้อิ่ว
4. การปฏิวัติของจีน เขียนโดย กองบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
5. การศึกษาปฏิวัติประชาชนลาว เขียนโดย ไกรสร พรหมวิหาร
6. ก่อนไปสู่ภูเขา แปลโดย สถาพร ศรีสัจจัง
7. กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ประไพ วิเศษธานี
8. เข้าโรงเรียน เขียนโดย กวั่นหวา
9. ข้อขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียต กับ จีน เขียนโดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เหยินหมิน ยึเป้า และกองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
10. คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ต่างประเทศ ปักกิ่ง และสุนทรการพิมพ์ หจก.จรัลสนิทวงศ์ บางพลัด กรุงเทพมหานคร
11. คัมภีร์นักปฏิวัติ เขียนโดย กลุ่มอิสานปฏิวัติ
12. คาร์ลมาร์กซ์ ผู้สร้างทฤษฎีนิรันดร เขียนโดย วิตาลี ไวกอดสกี
13. ความชัดเจนทางประวัติศาสตร์ของเผด็จการ ชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สุวิทย์การพิมพ์ ซอยอรรถสิทธ์ สาธรใต้ กรุงเทพฯ
14. เคียงข้างกันสร้างสรรค์โลก เขียนโดย แสงเสรี
15. ความคิดของเหมาเจ๋อตุง เขียนโดย สุรัฐ โรจนวรรณ
16. โจวเอินไหล ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่วัชรินทร์การพิมพ์ 364 ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ
17. จะวิเคราะห์ชนชั้นในชนบทอย่างไร เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรับใช้ชาติ
18. จากโฮจิมินห์ ถึง เปลื้อง วรรณศรี เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
19. จรยุทธ-ใต้ดิน เขียนโดย ตะวันฉาย
20. จีนคอมมิวนิสต์ เขียนโดย สนอง วิริยะผล
21. จิตใจปฏิวัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
22. จีนแผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล เขียนโดย Jan Myrdal & Gun Kessle
23. ลัทธิสังคมนิยมแบบเพ้อฝันและแบบวิทยาศาสตร์ แปลโดย อุทิศและโยธิน
24. ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ เขียนโดย ตะวันฉาย
25. ลัทธิเลนิน กับลัทธิแก้สมัยใหม่ เขียนโดย ชมรม 13
26. ลัทธิเลนินจงเจริญ เขียนโดย กองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
27. ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ว่าด้วยทฤษฎีสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ แปลโดย ศูทร ศรีประชา
28. ว่าด้วยรากฐานทางสังคมกลุ่มหลินเปียวที่ค้านพรรค เขียนโดย เหยาเหวินหยวน
29. วิจารณ์คำแถลงของพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกา กระจกส่องพวกลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ธเนศ วรการพิมพ์ 489 ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพฯ
30. วิพากษ์ลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ สมชายการพิมพ์ 270/77 ซอยวิมลสรกิจ บางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร
31. วิวัฒนาการความคิดสังคมนิยม เขียนโดย ชาญ กรัสนัยปุระ
32. ว่าด้วยรัฐบาลรวม เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
33. วิเคราะห์การต่อสู้ของพรรคลาวด๋อง เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
34. วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์ เขียนโดย น.ชญานุตม์
35. วัฒนธรรมจีนใหม่ เขียนโดย ไจ๋เปียน
36. วี.ไอ.เลนิน-รัฐ เขียนโดย ชมรมหนังสือแสงดาว
37. วีรบุรุษสู้รบ เขียนโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสานแห่งประเทศไทย
38. ว่าด้วยประชาธิปไตยรวมศูนย์ แปลโดย เศรษฐวัฒน์ ผดุงรัฐ
39. ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เขียนโดย โจเซพ สตาลิน ประกาย สุชีวิน แปล
40. ภาวะของศิลปะใต้ระบอบเผด็จการฟาสซีสม์ เขียนโดย จิตติน ธรรมชาติ
41. หลักลัทธิเลนิน เขียนโดย บำรุง ไพรัชวาที
42. หนทางการปฏิวัติไทย ไม่ปรากฏผู้แต่ง และไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์
43. 50 ปี พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา 50 ปี สหพันธ์สตรีคิวบา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ ประจักษ์การพิมพ์ กรุงเทพฯ
44. เดินทางทัพทางไกลไปกับประธานเหมา เขียนโดย เฉินชางเฟิ่ง
45. เดินทางไกลครั้งที่ 2 เขียนโดย เหยิน จางหลิน
46. หยางกึนซือวีรชนอมตะ เขียนโดย ว่างเฮา
47. เหมาเจ๋อตุง ผู้นำจีนใหม่ เขียนโดย เทิด ประชาธรรม
48. นอร์แมน เบทูน แปลโดย ศรีนรา
49. บนเส้นทางไปสู่สังคมนิยมจีน เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
50. บทกวีเพื่อผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย วิทยากร เชียงกูล
51. คาร์ลมาร์กซ์ ค่าจ้าง ราคา และกำไร แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
52. บันทึกของไพ่ฉวิน ม่านเทียนเสื่อ แปลโดย แจ่ม จรัสแสง
53. ประวัติศาสตร์ 30 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขียนโดย หูเฉียวมุ เจอดจำรัสแปล
54. ถังเหล่ยเวียดนาม เขียนโดย อุดร ทองน้อย
55. ทหารน้อยจางก่า เขียนโดย สีกวงเย่า
56. แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ เฟรเดอริค เองเกลส์
57. บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
58. ปัญหาลัทธิเลนินในยุคของเรา เขียนโดย ชมรม ดาวรุ่ง
59. แนวร่วมปลดแอกของโฮจิมินห์ เขียนโดย บัณฑูร เวชสาร
60. นิพนธ์ปรัชญา 4 เรื่องของประธานเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ชมรมหนังสือรวงข้าว
61. แนวทางแห่งการต่อสู้ แนวทางแห่งชัยชนะ เขียนโดย กลุ่มพลังชน
62. นักศึกษาจีนแนวหน้าของขบวนการปฏิวัติสังคม แปลโดย เทิด ธงธรรม วรรณา พรประเสริฐ
63. ด้วยเลือดและชีวิต เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
64. แนวร่วมเอกภาพเพื่อการปลดแอกแห่งชาติ เขียนโดย ชมรมหนังสืออิสรภาพ
65. ทฤษฎีการเมืองว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ แปลโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
66. ชีวทัศน์หนุ่มสาว ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่บริษัทบพิธการพิมพ์ 70 ถนนราชบพิธ กรุงเทพมหานคร
67. ชีวทัศน์เยาวชน ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
68. ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง แปลโดย สุเทพ สุนทรเภสัช
69. เช กูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ เขียนโดย ศรีอุบล
70. ชีวิตในคอมมูน เขียนโดย สันติสุข
71. ชนกรรมาชีพทั่วโลก จงสามัคคีกันคัดค้านศัตรูร่วมกับเรา เขียนโดย สำนักพิมพ์เข็มทิศ
72. ซ้ายทารก เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
73. สืบทอดภารกิจปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
74. สุนทรพจน์ของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ศรีเพ็ชรการพิมพ์ 169/120 ตรอกวัดดีดวด บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
75. สงครามปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
76. สงครามกองโจรของ เช กูวารา แปลโดย ฤตินันทน์
77. สรรนิพนธ์ โฮจิมินห์ แปลโดย วารินทร์ สินสูงสุด ปารวดี วรุณจิต
78. เสียงร้องของประชาชน แปลโดย จิรนันท์ พิตรปรีชา
79. สงครามยืดเยื้อ เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
80. สรรนิพนธ์เลนิน คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย โรคไร้เดียงสา แปลโดย นพคุณ ศิริประเสริฐ
81. สรรนิพนธ์เลนิน เพื่อคนจนในชนบท แปลโดย พัลลภา ปั้นงาม
82. สงครามอุโมงค์ เขียนโดย เจ๋อเหมย ปี้เหลย
83. สตรีกับภารกิจแห่งการปฏิวัติ เขียนโดย จินดา ไชยโยทยาน
84. ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ ต่อสู้กับคลื่นลม ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
85. ระลึกคอมมูนปารีสครบร้อยปี เขียนโดย ชมรมหนังสือตะวันแดง
86. ศัพทานุกรมปรัชญา เขียนโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
87. สาธารณรัฐประชาชนจีน แปลโดย ถ่องแท้ รจนาสัณห์
88. เมาเซตุง เขียนโดย ศิรวิทย์
89. ยูโกสลาเวีย เป็นสังคมนิยมจริงหรือ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
90. ปัญหาปฏิวัติประเทศไทย เขียนโดย กลุ่มชนภูเขา
91. เอกสารสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรักชาติ
92. โฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ไทย เขียนโดย สายใย เทอดชูธรรม
93. พระเจ้าอยู่ที่ไหน เขียนโดย นายผี
94. พระสงฆ์ลาวกับการปฏิวัติ เขียนโดย คำตัน
95. แล้วเราก็ปฏิวัติ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ เจริญวิทย์การพิมพ์ บ้านพานถม กรุงเทพมหานคร
96. รัฐกับการปฏิวัติ เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
97. เลนินจักรวรรดินิยมชั้นสูงสุดของทุนนิยม แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
98. ว่าด้วยปัญหาที่ดินและชาวนาของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
99. วีรสตรีจีนปฏิวัติหลิวหูหลาน แปลโดย วีรจิตร
100. อัลเยนเด้วีรปฏิวัติ เขียนโดย สูรย์ พลังไทย
อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ข้อ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ รวม 100 ฉบับ ตามรายชื่อข้างต้นซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครอง
ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม 2520
สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง
ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารและสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียน แสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำให้ผู้อ่านเกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินไม่ว่าวิถีทางใด อันเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ ตามบัญชีรายชื่อต่อไปนี้
1. กบฏ-วรรณกรรมซาดิสม์ เขียนโดย โกสุม พิสัย
2. กบฏปากกา จัดพิมพ์โดย ชมรมสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. กวีการเมือง เขียนโดย โยธิน มหายุทธนา
4. การต่อสู้ทางชนชั้นและการปฏิวัติสังคม ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
5. การต่อสู้ของกรรมกรไทย ไม่ปรากฏผู้เขียน
6. การศึกษาเพื่อมวลชน เขียนโดย จักรกฤษณ์ นาคะรัต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นิโคลัส เบนเนสท์ จูเลียส ไนเยียเร รวบรวมโดย สมาน เลือดวงหัด เริงชัย พุทธาโร
7. การศึกษาสำหรับผู้กดขี่ เขียนโดย เปาโลว์ แฟร์ แปลโดย ช. เขียวพุ่มแสง
8. การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพกับลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
9. กอ.รมน. องค์การสัตว์นรกของอเมริกันในประเทศไทย เขียนโดย ยอดธง ทับทิวไม้
10. กลุ่มทุนนิยมผูกขาดในประเทศไทย เขียนโดย ณรงค์ เพชรประเสริฐ
11. กลั่นมาจากสายเลือด เขียนโดย วัฒน์ วรรลยางกูร
12. กรรมกรในระบบนายทุน เขียนโดย สุภชัย มนัสไพบูลย์
13. กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย เขียนโดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
14. กงล้อประวัติศาสตร์จีน เขียนโดย สุวรรณ วิริยะผล
15. การวิจัยเพื่อขายชาติ เขียนโดย รัก เอกราชไม้กล้า
16. ก่อนสู่เส้นทาง จัดพิมพ์โดย องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒบางแสน
17. ก่อนกลับบ้านเกิด จัดพิมพ์โดย ชมรมนักแปลนิรนาม
18. กฎหมายสหภาพแรงงานประชาชนจีน ธรรมนูญสหภาพแรงงานประชาชนจีน การประทับแรงงาน เขียนโดย แก้ว กรรมาชน
19. กรณีพิพาทไทย-ลาว จัดพิมพ์โดย กลุ่มนักศึกษา ปัญหาไทย-ลาว
20. ขบวนการกรรมกรในประเทศไทย เขียนโดย พิชิต จงสถิตย์วัฒนา
21. ขบวนการเรดการ์ด เขียนโดย จำลอง พิศนาคะ
22. ขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
23. ความเรียงว่าด้วยศาสนา เขียนโดย ยอร์จ ทอมสัน แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
24. ความเป็นเอกภาพของชาติกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์ แช่ม พนมยงค์ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ภูเขาไฟ สุพจน์ ด่านตระกูล สุภัทร์ สุคนธาภิรมย์
25. คาร์ลมาร์กซ์ แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
26. โครงสร้างสถานการณ์ จัดพิมพ์โดยกลุ่มนักศึกษาประชาชนเพื่อต่อต้านสงครามจิตวิทยา
27. คู่มือรัฐประหาร เขียนโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์
28. ใครละเมิดอำนาจอธิปไตย เขียนโดย เขียน ธีระวิทย์ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
29. คัมภีร์ของผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย เปาโลว์แฟร์ แปลโดย จิราภรณ์ ศิริสุพรรณ
30. คำประกาศของความรู้สึกใหม่ เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
31. คำประกาศเพื่อสังคมใหม่ เขียนโดย จูเลียส ไนยาเร แปลโดย สันติสุข โสภณศิริ
32. ครอง จันดาวงศ์ และชีวิตบนเทือกเขาภูพานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ปรากฏผู้เขียน
33. คาร์ลมาร์กซ์ แรงงานรับจ้างและทุน เขียนโดย คาร์ลมาร์กซ์ แปลโดย รจเรข ปัญญาประสานชัย
34. คิดอย่างเยาวชนใหม่ จัดพิมพ์โดย กลุ่มหนังสือตะวันแดง
35. จงพิทักษ์เจตนารมย์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์
36. จงร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนิยม เขียนโดย กิม อิล ซอง แปลโดย กิตติกุล
37. จากเล็กซิงตันถึง…สิบสี่ตุลา จัดพิมพ์โดย ชมรมรัฐศึกษา สจม.พรรคจุฬาประชาชน
38. จีน…หลังการปฏิวัติ เขียนโดย สิทธิสถิตย์
39. โฉมหน้าจีนใหม่ จัดพิมพ์โดย องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
40. โฉมหน้าศักดินาไทย เขียนโดย สมสมัย ศรีศูทรพรรณ
41. มนุษยธรรมกับการต่อสู้ทางชนชั้น เขียนโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
42. มาร์กซ์ จงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร? เขียนโดย สุภา ศิริมานนท์
43. ศัตรูประชาชน แปลโดย กวี ศรีประชา
44. เศรษฐกิจในระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่ เขียนโดย เสิ่นจื้อหย่วน แปลโดย ส.ว.พ.
45. เศรษฐกิจของจีน (โดยสังเขป) เขียนโดย เจิ้งสือ
46. เศรษฐศาสตร์เพื่อมวลชน เขียนโดย วิภาษ รักษาวาที
47. ศัพทานุกรมปรัชญาว่าด้วยจิตนิยมวัตถุนิยม เขียนโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
48. แนวทางการต่อสู้ของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา จัดพิมพ์โดย กลุ่มนักศึกษาประชาชนเพื่อพัฒนาชนบท
49. แนวร่วมปลดแอกประชาชนชาวไทย เขียนโดย โดนัลด์ อี วีเทอร์บี แปลโดย แสงเพลิง
50. แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์โลก เขียนโดย ฌี่ชุน แปลโดย ศรีอุบล
51. นิพนธ์ 5 บท ประธานเหมาเจ๋อตุง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ปฏิวัติ
52. ร้อยกรองจากซับแดง เขียนโดย ประเสริฐ จันดำ
53. รุ่งอรุณ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
54. แด่เยาวชน ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
55. เบทูนนายแพทย์นักปฏิวัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
56. ปลุกผีคอมมิวนิสต์ เขียนโดย ธนาลัย
57. ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของผู้หญิง เขียนโดย ฤดี เริงชัย
58. หลักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์เบื้องต้น เขียนโดย เอิร์นเนสท์ แมนเดล แปลโดย ทวี หมื่นนิกร
59. หลักลัทธิเลนินกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ เขียนโดย เอ.นูเบอร์ก แปลโดย รุ่งอรุณ ณ บูรพา
60. หลักลัทธิมาร์กซ์เลนิน เล่ม 1-3 แปลโดย ทวี หมื่นนิกร
61. โต้ลัทธิแก้ไทยวิจารณ์แห่งวิจารณ์ เขียนโดย อุทิศ ประสานสภา
62. ตะวันสีแดงส่องทาง เขียนโดย อุดร ทองน้อย
63. ตะวันสีแดง เขียนโดย สุทัศน์ เอกา
64. ตะวันดวงใหม่แห่งบูรพา เล่ม 1-2 เขียนโดย ทวี เกตะวันดี
65. ตื่นเถิดชาวเอเชีย เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
66. ไทย-ไท จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ไทย-ไท
67. วิญญาณปฏิวัติ เขียนโดย สีหนาท
68. ทนายแก้ต่างของลัทธิล่าเมืองขึ้นใหม่ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง
69. ด้วยมือที่หยาบกร้าน เขียนโดย นายผี รมย์ รติวัน ช.เพ็ญแข คุณาวุฒิ ไพฑูรย์สุนทร ศิริรัตน์ สถาปนวัฒน์
70. เดินทางซ้าย เขียนโดย ณรงค์ วิทยไพศาล
71. พิทักษ์เจตนารมณ์วีรชน จัดพิมพ์โดย ฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ งานรำลึกวีรชน 14 ตุลา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
72. วิพากษ์ นายผีโต้ลัทธิแก้ไทยวิจารณ์แห่งการวิจารณ์ อุทิศ ประสานสภา เขียนโดย อำนาจ ยุทธวิวัฒน์
73. วิพากษ์ ทฤษฎีจอมปลอม เขียนโดย กระแสทาน พรสุวรรณ
74. พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน เขียนโดย รวี โดมพระจันทร์
75. วีรชนอาเซีย จัดพิมพ์โดย กองบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
76. ทัศนคติ ชีวิตที่ก้าวหน้า จัดพิมพ์โดย กลุ่มพัฒนา วัฒนธรรม
77. โลกทัศน์เยาวชน เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
78. ไทยกึ่งเมืองขึ้น เขียนโดย อรัญ พรหมชมภู
79. วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน เขียนโดย นศินี วิทูธีรศานต์
80. ที่เขาเรียกกันว่าลัทธิแก้นั้นหมายความว่ากระไร และความเป็นมาแห่งลัทธิรีวิสชั่นนิสม์ เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์
81. ฟ้าทอง เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
82. ยุทธวิธีของชาวบอลเชวิค เขียนโดย เจ.วี สตาลิน แปลโดย นพพร สุวรรณพาณิช
83. ผู้หญิง (1) เขียนโดย ปนัดดา เลิศล้ำอำไพ จีรนันท์ พิตรปรีชา ศรีศักดิ์ นพรัตน์ สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์
84. เยาวชนผู้บุกเบิก แปลโดย ศรีสารคาม
85. สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง (ทุกภาค ทุกตอน) เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
86. สรรนิพนธ์การทหารเหมาเจ๋อตุง เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
87. ผ่าตัดพุทธศาสนา จัดพิมพ์โดย ฝ่ายวิชาการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
88. วันกรรมกร นครราชสีมา ไม่ปรากฏผู้เขียน
89. ซ้องกั๋ง แบบอย่างลัทธิยอมจำนน เขียนโดย ศิวะ รณชิต
90. ศาส์นศยาม ไม่ปรากฏผู้เขียน
91. โลกทัศน์เยาวชน ฉบับเสียงเยาวชน เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
92. สภาพการกดขี่ขูดรีด ชาวนา ชาวไร่ไทย เขียนโดย จรัส จัณฑาลักษณ์
93. เยาวชนแดง “นิทานพื้นเมืองยุคปฏิวัติ” ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
94. ระบบทุนนิยมในสังคมไทย เขียนโดย จันดา สระแก้ว
95. กบฏ ร.ศ.130 เขียนโดย ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์
96. ไทย-ไดเจสท์ ฉบับที่ 4 ปีที่ 1 พฤษภาคม 2518 บรรณาธิการบริหาร มนตรี จึงสิริอารักษ์
97. LENIN SELECTED WORKES
98. LENIN ON WORKERS CONTROL AND THE NATIONNALISATION OF INDUSTRY
99. LENIN ON THE UNITY OF THE INTERNATIONAL : COMMUNIST MOVEMENT
100. MARX ENGELS LENIN
101. MAN AND THE SCIENTIFIC AND TECHNOLOGICAL REVOLUTION
102. SOCIALISM TODAY
103. TERIA Y CRITICA PROGRESO
104. YOUTH AND THE PARTY
อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ข้อ 2, ข้อ 4 และข้อ 5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าเอกสารและสิ่งพิมพ์ รวม 104 ฉบับ ตามบัญชีรายชื่อข้างต้นนี้ เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครอง
อนึ่ง ให้เจ้าของผู้ครอบครองเอกสารและสิ่งพิมพ์ ตามบัญชีรายชื่อข้างต้นนี้ และเจ้าของผู้ครอบครองเอกสารและสิ่งพิมพ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 94 ตอนที่ 18 วันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2520 นำส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ ท้องที่ที่ตนอาศัยอยู่ ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2520
สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
วรรณกรรมบาดแผล
วรรณกรรมเพื่อชีวิตหลัง 20 ตุลาคม 2520
รัฐบาลเผด็จการพลเรือนถูกโค่นล้มเมื่อวันที่ 20 ตุลา 20 หลังจากใช้อำนาจเผด็จการอย่างเมามันได้เพียงหนึ่งปี บรรยากาศการเมืองเริ่มผ่อนคลาย เมื่อเหล่าปัญญาชนเริ่มกลับเข้าเมืองหลังประกาศนโยบาย 66/23 วรรณกรรมเพื่อชีวิตเริ่มปรากฏตัวขึ้นอีก คราวนี้ส่วนใหญ่จะพูดถึงความสะเทือนใจเจ็บช้ำ, ปวดร้าวจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และความผิดหวังจากการสู้รบร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ วรรณกรรมยุคนี้จึงเปรียบเสมือนยาสมานแผลในใจสำหรับคนหนุ่มสาวที่มีความหวังดีต่อบ้านเมือง แต่ต้องพบกับความผิดหวัง, พ่ายแพ้ในการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า มีบางคนขนานนามวรรณกรรมยุคนี้ว่าเป็น “วรรณกรรมปลาสเตอร์” สร้างสรรค์เพื่อสมานแผลในใจของนักปฏิวัติหนุ่มสาว
วรรณกรรมที่กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เป็นเรื่องสั้นและนวนิยายมี
“ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ของ อัศศิริ ธรรมโชติ
“แม่” ของ เหลืองฝ้ายคำ
“จนกว่าจะถึงวันนั้น” ของ พีร์พลา
“ดอกไม้เปื้อนเลือด” ของ ออระสี
“ดอกไม้ตาย” ของ ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล
“วันเวลาที่ผ่านเลย” ของ สายไท
“ดอกไม้บนปลายปืน” ของ แม่จันทร์
“ทางสายที่ต้องเลือก” ของ ชามา
“บนราวแห่งความคับแค้น” ของ พิบูลศักดิ์ ละครพล
“ผู้หญิงคนนั้นชื่อศาวิกา” ของ สมศักดิ์ วงศ์รัฐ
“ภาพเขียนที่ยังไม่เสร็จ” ของ แขลดา วงศ์กสิกร
ที่เป็นกวีนิพนธ์มี “อิสระและเสรี” ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์, “เขมรกล่อมลูก” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, “ดาวศรัทธายังโชนจ้าแสง” ของ พนม นันทพฤกษ์ (สถาพร ศรีสัจจัง)
ผลงานรวมเล่มเรื่องสั้นและนวนิยาย ได้แก่
“แสงดาวแห่งศรัทธา”, “สำนึกขบถ” ของ คมทวน คันธนู
“กลั่นจากสายเลือด”, “ข้าวแค้น”, “ความหวัง เมื่อเก้านาฬิกา (หรือนกพิราบสีขาว)”, “ใต้เงาปืน”, “ดงแดง”, “ทลายแนวปิดล้อม” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร
“คำขอโทษ” ของ หนวนอู้
“ฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึง” ของ วิทยากร เชียงกูล
“พิราบเมิน” ของ รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก)
หลังการกลับคืนเมืองวรรณกรรม “บาดแผล” ทั้งบทกวี, เรื่องสั้น, นวนิยายเล่มเด่นๆ เช่น
“คืนก่อนการก่อเกิด”, “เรือลำใหม่”, “กลับไปหาแสงสว่าง”, “แด่ความรักอันงดงาม” ของ วิสา คัญทัพ
“ฝันให้ไกลไปให้ถึง”, “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร
“กลางเปลวแดด” ของ ประเสริฐ จันดำ
“ไปเหนือก้อนเมฆ” ของ เสถียร จันทิมาธร
“ฤดูกาล”, “ดอกไผ่”, “มหาวิทยาลัยชีวิต” ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
“ใบไม้ที่หายไป” ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา
วรรณกรรมเพื่อชีวิตพลิกฟื้นอีกครั้ง
หนทางข้างหน้า
ระยะหลังมีการวิจารณ์วรรณกรรมเพื่อชีวิตเรื่อง “สูตรสำเร็จ” ในแง่ความซ้ำซากของเนื้อหา ความไม่เป็นเอกภาพระหว่างรูปแบบและเนื้อหาความจริงใจของผู้เขียน การมีเป้าหมายเพื่อการเมืองอย่างเดียว ฯลฯ คำวิจารณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักเขียนแนวเพื่อชีวิตนำไปพิจารณาปรับปรุงตนเอง
วรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วงสิบปีหลังไม่มีกลิ่นอายของการต่อสู้ที่ดุดันมักกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคมในลักษณะแปลกแยก ตัวละครแสดงความโดดเดี่ยวและเป็นปัจเจกชนสูง กล่าวถึงความล่มสลายของสังคมชนบท ความเสื่อมโทรมของสถาบันครอบครัว, ศาสนา, จริยธรรม, สิ่งแวดล้อม สะท้อนปัญหาโดยไม่มีการชี้นำอย่างในอดีต
นอกจากนี้นักเขียนรุ่นใหม่มิได้ใช้แนวสมจริงเป็นแนวทางเดียวในการเสนอวรรณกรรมเพื่อชีวิตอีกต่อไป มีการทดลองใช้แนวสัญลักษณ์นิยม แนวแอบเสิร์ด แนววิทยาศาสตร์ แนวเซอร์เรียลลิสม์ แนวจินตนาการ (FANTASY) แนวสัจนิยมมายา (Magical Realism) เป็นต้น
สิ่งที่สนับสนุนการเติบโตของวรรณกรรมเพื่อชีวิตในช่วงที่ผ่านมา คือ นิตยสารทางวรรณกรรม เช่น โลกหนังสือ ถนนหนังสือ ช่อการะเกดและนิตยสารไรเตอร์ นิตยสารเหล่านี้เป็นเวทีสนับสนุนการสร้างสรรค์วรรณกรรม ส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ให้เข้ามาบนถนนวรรณกรรมอย่างไม่ขาดสาย
เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 ทำให้วิญญาณต่อสู้ของนักเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตคุโชนขึ้นอีก บทกวีที่ถ่ายทอดเหตุการณ์หลั่งไหลออกมามากมาย
“น้ำค้างกลางถนน” ของ ไพบูลย์ วงษ์เทศ
“หมายเหตุประชาชน” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
“ใครฆ่าประชาชน” ของ ยืนยง โอภากุล
“ปฏิญาณ” ของ ทิวา สาระจูฑะ
“แด่วีรชน” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
“ฝนแรก” ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนร่วมสมัย ทั้งที่อยู่ในเหตุการณ์และไม่อยู่ในเหตุการณ์ ความทรงจำนั้นถูกกรองร้อยเป็นวรรณกรรมเพื่อปลุกจิตสำนึก สร้างอุดมคติของความเสียสละเพื่อผู้อื่นและสังคมส่วนรวม จิตวิญญาณของ 14 ตุลา 16 จึงยังคงสืบสานสู่คนรุ่นหลังอย่างเข้มข้น เข้มแข็งไม่มีวันดับสูญ
ถึงวันนี้ สังคมเปลี่ยนไป ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติรุนแรงอีกครั้ง กลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของ IMF คนตกงานมากมายนับล้านคน สังคมตกอยู่ในภาวะตึงเครียดสันสนครั้งใหญ่อีกครั้ง สภาวการณ์นี้จะเป็นพลังผลักดันให้มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมที่แหลมคมออกมาอีกหรือเปล่า
วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะกลับมาชี้นำสังคมได้อีกหรือไม่ เราคอยคำตอบอยู่
---------------------------------------------
ที่มา : คัดจากหนังสือ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516” จากข้อมูลของฝ่ายนิทรรศการ 25 ปี 14 ตุลา ในชื่อเดิมว่า “25 ปี 14 ตุลา มองผ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สายธาร, ตุลาคม 2541. ทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2492-ปัจจุบัน
Labels: ถนนไปสู่ก้อนเมฆ, ธัญญา ผลอนันต์, วรรณกรรมเพื่อชีวิต
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home