เรียวจันทร์ ผลอนันต์ ถ้าต้องตายในวันนี้ ก็จะไม่มีคำว่า เสียดาย
จากประสบการณ์นักเรียนไทยในต่างแดน เรียวจันทร์ ผลอนันต์ (T-two) ลูกสาวฝาแฝดคนที่ 2 ของคุณพ่อธัญญา ผลอนันต์ นักเขียนในยุคแสวงหาเจ้าของผลงานหนังสือ “ถนนไปสู่ก้อนเมฆ” ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ “ณ ที่ซึ่งรุ้งตัดแวง” วรรณกรรมเยาวชนที่คว้ารางวัลมาจากหลายเวที การเขียนหนังสือไม่ใช่สิ่งเดียวที่เรียวจันทร์สนใจ แต่ทุกเรื่องที่เรียวจันทร์ อยากที่จะทำเป็นทุกเรื่องที่เธอสนใจ และต้องทำให้ได้อย่างดีที่สุดเพื่อที่จะไม่ต้องมานั่งเสียดายภายหลัง
ฝาแฝดผู้น้อง “เรียวจันทร์ ผลอนันต์”จริงๆ แล้วเกิดมามีฝาแฝดหนึ่งคน ชื่อว่า คมเคียว ผลอนันต์ (T-one) T หมายถึง twin ค่ะ เราสองคนไปเกิดที่ประเทศอังกฤษ คุณพ่อกับคุณแม่เจอกันที่ยุโรป ช่วงนั้นคุณพ่อคือ คุณธัญญา ผลอนันต์ ซึ่งทำงานในแวดวงนักเขียน เป็นนักข่าวและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จึงจำเป็นต้องลี้ภัยจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อปี 2516 เราเลยไปคลอดที่ประเทศอังกฤษ แต่อยู่ได้แค่ 8 เดือนก็กลับมาประเทศไทย วันกับทู จึงมาโตที่ประเทศไทย ช่วงหลังมานี้คุณพ่อก็ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ มาเป็นผู้ฝึกอบรมเรื่อง Mind Map ส่วนคุณแม่ คือ คุณธาราทิพย์ นิยมค้า ตอนนี้คุณแม่เปิดร้านอาหาร ชื่อร้าน Mango Rain อยู่แถวสุขุมวิทค่ะ
งานเขียนหนังสือ “ณ ที่ซึ่งรุ้งตัดแวง” ที่สร้างชื่อเพิ่งได้รับรางวัลเยาวชนนักเขียนตัวอย่าง โครงการการสร้างวัฒนธรรม การคิด อ่าน เขียน เรียนรู้ จากผลงานวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “ณ ที่ซึ่งรุ้งตัดแวง” ค่ะ ซึ่งเมื่อ 4 ปีก่อน ก็เคยได้รับรางวัลชมเชย การประกวดหนังสือดีเด่น 7 Book Awards มาแล้วจากผลงานเล่มเดียวกัน เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนกึ่งสารคดี บอกเล่าชีวิตในช่วง ม.6 ตอนได้รับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน ที่ประเทศกัวเตมาลา ในขณะที่คนอื่นๆ เขาอยากไปประเทศที่มันศิวิไลซ์ แต่เรากลับคิดว่าเราอยากไปประเทศที่มีวัฒนธรรมที่มันแตกต่างออกไป อยากเรียนรู้วัฒนธรรมที่แปลกใหม่
ตอนยังเด็กเคยฝันไว้ว่าอยากที่จะมีหนังสือของตัวเอง แต่ในตอนนั้นยังไม่มีวัตถุดิบที่จะนำมาเขียนมากพอ แต่พอได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนทุน AFS ก็เริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และพอดีกับว่ายังไม่มีวรรณกรรมที่เกี่ยวกับลาตินอเมริกาเลย จึงเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา เริ่มเขียนตอนเรียนปีหนึ่ง แล้วก็เขียนรูปประกอบเองด้วย โชคดีที่คุณพ่อสนับสนุนเลยได้ท่านเข้ามาช่วยในเรื่องของการจัดพิมพ์ แล้วก็ได้รับมาถึงสองรางวัล ก็รู้สึกภูมิใจมาก แม้จะเป็นเล่มแรก แต่เขาก็เห็นคุณค่าของงานเรา แต่จากรางวัลที่ได้มาเราก็ย้อนกลับมาดูตัวเองนะ ว่าเราเหมาะกับสิ่งที่เขาให้แล้วจริงๆ หรือ เพราะนี่ก็เป็นเล่มแรกของเราด้วย มันยังต้องมีอะไรที่ต้องปรับปรุงอีกเยอะ ยังต้องสะสมประสบการณ์ให้มากขึ้น และใช้ชีวิตในถนนสายนักเขียนให้นานขึ้น คือเราต้องพัฒนาตัวเองให้ควรค่าแก่รางวัล
ต้นแบบของการเป็นนักเขียนก็คงเป็นคุณพ่อ ที่มีบทบาท ตอนเด็กๆ ก็จะได้คลุกคลีอยู่กับพ่อซึ่งทำงานเกี่ยวกับหนังสือ พาเราไปงานสัปดาห์หนังสือ เราก็ชอบหยิบๆ จับๆ หนังสือมาอ่าน คุณพ่อก็สนับสนุนในเรื่องของการอ่านด้วย ทั้งการ์ตูนก็ให้อ่าน แต่ตอนเด็กๆ เคยลองอ่านหนังสือของคุณพ่อด้วย แต่อ่านไม่เข้าใจ พอโตมาก็พอเริ่มอ่านได้เข้าใจมากขึ้น จากความที่เป็นคนรักการอ่านบวกกับมีนักเขียนต้นแบบอย่างคุณพ่อ จึงทำให้คิดอยากที่จะเขียนหนังสือ อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ตอนที่เริ่มเขียนก็ปรึกษาคุณพ่อ คุณพ่อก็ให้คำแนะนำ พอเขียนเสร็จก็ให้คุณพ่อลองอ่าน คุณพ่อก็ไม่ได้แก้หรือปรับเปลี่ยนอะไรที่เราทำเลย คุณพ่อให้อิสระกับงานเขียนของเรามาก
ทราบมาว่า เรียวจันทร์ เป็นนักล่ารางวัลตัวยงเราก็แค่ทำในสิ่งที่อยากทำ ถึงแม้ว่าอาจจะผิดหวังไม่ได้รางวัลบ้าง แต่เหมือนกับว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ให้เต็มความสามารถของเรา รางวัลเป็นแค่ตัวกระตุ้นให้เราทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่เราได้ทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ เมื่อเราได้ชื่นชมกับผลงานของเรา นี่แหละคือรางวัลที่ดีที่สุด ที่บ้านจะรู้ดีว่าเวลาเรากำลังสร้างสรรค์ผลงานอะไรสักอย่าง เราจะชอบอุบเงียบ อย่างถักเสื้อนี่เราจะง่วนอยู่คนเดียวแล้วจะแอบไม่ให้ใครรู้ ปล่อยให้ทุกคนทายว่าทำอะไร พอทำเสร็จเราค่อยเอาออกมาโชว์ แล้วก็จะแขวนโชว์ไว้เป็นวันๆ แบบว่ามันปลื้มว่าฉันทำได้แล้ว
-------------------------------------------
อ่านต่อใน ulife ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 หน้าปก c-qui
Labels: ULIFE, ณ ที่ซึ่งรุ้งตัดแวง, เยาวชนนักเขียนตัวอย่าง, เรียวจันทร์ ผลอนันต์
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home